ผ่านไป 9 เดือน อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทยที่ถือว่าโดดเด่น และเหมาะสมกับภาวะการลงทุนในหุ้นที่ผันผวนในปีนี้มากที่สุด คงหนีไม่พ้น “พระเอก” อย่างกองทุน ทริกเกอร์ฟันด์ หรือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นแบบมีกำหนดเวลาและเป้าหมายผลตอบแทน หรือ รีเทิร์นที่ ชัดเจน แล้วปิดกองทุน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ รีเทิร์นตามเป้าหมายที่กำหนด หรือระยะเวลาเดินทางมาครบตามอายุกองทุนแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน
ซึ่งปีนี้รีเทิร์นเป้าหมายส่วนใหญ่ของทริกเกอร์ฟันด์ ประมาณ 7-9 % ต่อปี และอายุกองทุนส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 ปี อาทิเช่น กองทุนที่เพิ่งครบอายุไปคือกองทุนเปิดกรุงศรีอิควตี้ 4 %พลัส 4 % ทริกเกอร์(KFEQ4P4-4) อายุกองทุน 8 เดือน จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา และครบอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยที่ราคาต่อหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10.93 บาท หรือเพิ่มขึ้น 8 % ด้วยระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และ กองทุนแอสเซทพลัสสตาร์ 5 (ASP-STARS5) ก็ถึงเป้าหมาย 9 % ไปแล้วด้วยระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น เป็นต้น
ทำให้ทั้งปีทริกเกอร์ฟันด์มีออกมาแล้วกว่า 84 กองทุน รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดกว่า 58,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่สำหรับกองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 80% (69 กองทุน) จะเน้นลงทุนในหุ้นในประเทศไทยและมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายยังคงประมาณ 7-8% เหมือนเดิม ขณะที่ ทริกเกอร์ฟันด์ที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็มีออกมามากเช่นกัน 14 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมประมาณ 6,000 ล้านบาท
ซึ่งข้อดีของกองทุนประเภทกำหนดรีเทิร์นที่ชัดเจน คือเป็นกองทุนที่ลงทุนโดยอาศัยจังหวะเวลาที่เหมาะสมในสภาวะที่ตลาดมีความผันผวน ทำให้นักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์ ก็อาจจะพลาดโอกาสที่ดีในการทำกำไรหรือเข้าลงทุนได้ นอกจากนี้กองทุนประเภทนี้ยังเหมาะกับกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นมาก่อนแต่อยากได้รีเทิร์นที่สูงกว่าผลตอบแทนจากเงินฝาก หรือการลงทุนในตราสารหนี้ ที่อยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมานาน
แต่ก็มีข้อเสียและข้อพึงระมัดระวัง โดย นายพีร์ ยงวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า นักลงทุนจะต้องยอมรับความเสี่ยงของกองทุนประเภทนี้ให้ได้ด้วย เนื่องจากทริกเกอร์ฟันด์เป็นกองทุนที่จำกัดผลตอบแทน ซึ่งหมายความว่า จะเสียโอกาสที่จะได้รับรีเทิร์นที่สูงขึ้นหากสถานการณ์ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน แต่กองทุนจะต้องถูกปิด เนื่องจากรีเทิร์นเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นยังมีโอกาสขึ้นได้ต่อ
และกองทุนทริกเกอร์ฟันด์จะไม่จำกัดการขาดทุน หมายความว่าในภาวะที่หุ้นปรับลงนักลงทุนจะต้องรับผลขาดทุนเต็มที่นั่นเอง นอกจากนี้ ด้านอัตราค่าธรรมเนียมสูงก็ไม่ได้ถูกด้วย ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีจำนวนกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ หลายกองทุนที่ครบกำหนดอายุแล้วแต่ไม่สามารถทำรีเทิร์นได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ยังพบว่าทริกเกอร์ฟันด์ที่ยังเปิดดำเนินงานอยู่มีรีเทิร์นติดอยู่ในกลุ่มสุดท้ายเมื่อเทียบกับกองทุนหุ้นทั่วไปในช่วงเวลาเดียวกันด้วย
ส่วนกองทุนรวมประเภทต่างๆนั้นถือว่าเติบโตพอสมควร โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตประมาณ 7.26% จากปลายปีที่ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิทะลุ 2.8 ล้านล้านบาท โดดเด่นและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆเห็นจะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นไทยที่มีเม็ดเงินไหลเข้าแล้วกว่า 45,000 ล้านบาท
โดยกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากคือ กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) กว่า 31,000 ล้านบาท และเป็นส่วนของกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) 14,000 ล้านบาท และนับว่าเป็นการที่มีเงินไหลเข้ากองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นไทย 16 เดือนติดต่อกัน กองทุนที่ได้รับความนิยมอีกประเภทหนึ่งเห็นจะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั้ง กลุ่ม Global Equity และ กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity โดยมีเงินลงทุนไหลเข้าแล้วกว่า 5,700 และ 2,500 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ ผลตอบแทนกองทุนในปีนี้ดูจะความผันผวน
แต่กองทุนที่พลิกกับมานำและทำผลตอบแทนได้ดีอย่างสม่ำเสมอในปีนี้คือ กลุ่ม Global Equity ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยบวกทุกไตรมาสในปีนี้ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 14.06% ส่วนกองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศกลุ่มอื่นๆก็ยังมีความผันผวนอยู่มาก จึงทำให้ทำผลตอบแทนไม่ค่อยดีนัก โดย กลุ่ม Emerging Market Equity ทำได้เฉลี่ย -2.94% และ กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ทำได้เฉลี่ย -1.42% ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศเกิดใหม่
ขณะที่ กองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นในประเทศไทยจากที่เคยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุดเมื่อผ่านครึ่งปีแรกไปกลับลดลงอย่างมาก โดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ยเพียง 2.61% ขณะที่กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ก็ลดลงเช่นกันโดยทำได้เฉลี่ย 3.58% (ขณะที่ SET Index ทำได้ -0.63%)
ข่าวเด่น