เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทยพาณิชย์ คาด GDP ไทย ปีนี้โต 3.4% ปีหน้า 4.5% แนะธุรกิจรับมือ 2 ปัจจัย


 

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)  ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ 3.4% ในปี 2013 และ 4.5% ในปี 2014 โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2013 ที่ต่ำกว่าการประมาณการเดิม เนื่องจาก

  1) การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีขยายตัวได้เพียง 0.1% ต่ำกว่าที่คาด 2) การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหมวดยานยนต์ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และ 3) การใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมายทั้งในส่วนของการลงทุนในงบประมาณ และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่นอกงบประมาณ สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2014 นั้น ปัจจัยสนับสนุนหลักจะมาจากการส่งออกที่ EIC ประเมินว่าจะขยายตัวได้ 8% โดยแรงขับเคลื่อนหลักคือสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 10% นอกจากนี้เศรษฐกิจในปี 2014 ยังจะได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่น่าจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นด้วย

EIC ประเมินค่าเงินบาทอยู่ระหว่าง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 และกนง.มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อเนื่องถึงปี 2014 ค่าเงินบาทจะผันผวนจากแนวโน้มการปรับลดขนาดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าการปรับลด QE จะเริ่มต้นในปี 2014 ค่าเงินบาทจึงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับปัจจุบันที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2013 และจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยในปีหน้า สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย EIC คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายที่ 2.50% ต่อเนื่องถึงปี 2014 จากอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ในระยะต่อไปได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยในภูมิภาค และการใช้จ่ายภาครัฐตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

แนวโน้มเงินทุนไหลออกเป็นความเสี่ยงสำคัญ แต่ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งพอที่จะรองรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว แนวโน้มการปรับลดมาตรการ QE จะส่งผลให้เกิดการโยกย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ และทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนของไทยมีโอกาสเชิญกับความผันผวนอีกครั้ง

 สิ่งที่ธุรกิจไทยควรเตรียมรับมือคือ 1) ความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งอาจอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นเมื่อมีการประกาศปรับเปลี่ยนมาตรการ QE และ 2) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดพันธบัตรตามการขยับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ หรือมีความจำเป็นต้องระดมเงินในตลาดพันธบัตร ควรติดตามแนวโน้มการปรับมาตรการ QE อย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูง ในส่วนของความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภาวะเงินทุนไหลออกนั้น EIC ยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน เหมือนสมัยปี 1997 เพราะมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี เช่น มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากถึง 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และระบบธนาคารที่มีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องในระดับสูง เป็นต้น

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2556 เวลา : 13:01:03
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:57 pm