เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ราชนิกุล-เอกชน" ต้านนิรโทษกรรม


 

 

 

 

กระแสการชุมนุมต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากเวทีชุมนุมสถานีรถไฟสามเสนในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีการจัดเวทีปราศรัยตามจังหวัดต่างๆ ขณะเดียวกันกลุ่มราชนิกุล กลุ่มนักธุรกิจสีลม นักธุรกิจจากภาคส่วนต่างๆ และภาคเอกชน ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน

 

 

พลตรีหม่อมเจ้า จุลเจิม ยุคล แถลงภายหลังการประชุมของกลุ่มราชนิกุลและราชสกุลว่า ในฐานะตัวแทน 20 ราชนิกุล 50 ราชสกุล มีความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีกระแสต่อต้านและไม่เห็นด้วยจากหลายฝ่าย โดยอยู่ในความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม จึงมิบังควรหากรัฐบาลจะนำกฎหมายที่เป็นของที่ไม่ดี ไม่บริสุทธิ์ไปทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้นในฐานะราชสกุล จึงต้องการคัดค้านการนำสิ่งที่มิบังควรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งยังพบว่า ทุกวันนี้มีหลายเรื่องเช่น ละครของบางกลุ่มที่แสดงให้เห็นว่ามีนัยยะบังอาจจาบจ้วงสถาบัน
 
ขณะเดียวกัน ก็มีการแสดงออกของภาคธุรกิจ โดยชมรมนักธุรกิจประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติแทรกแซงล้มล้างอำนาจตุลาการ ละเมิดต่อหลักนิติธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญไทย จึงขอเชิญชวนร่วมกันแสดงพลัง "สีลม สีเขียว ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษ คนโกงชาติ"บนทางเท้าถนนสีลม ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ และจะจัดนิทรรศการ "ต้านคนโกงชาติ" ทุกวันจันทร์ ที่ถนนสีลม จนกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะถูกยกเลิกไป

นายสมเกียรติ หอมละออ ตัวแทนกลุ่มนักธุรกิจย่านสีลม กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวสีลมเคยแสดงพลังไล่รัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง ทั้งรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และครั้งนี้ขอพลังจากชาวสีลมร่วมกันอีกครั้ง

 

 

ด้านรองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ก็ได้ออกเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเร็วที่สุด เพราะสร้างความเสียหายอย่างมากในทุกด้าน กลายเป็นประเทศที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย

และ พ.ร.บ.นี้จะส่งผลกระทบ 3 ด้าน คือ 1.ความน่าเชื่อถือของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและกฎหมาย 2.การเร่งรีบออกกฎหมาย ทำให้คนในประเทศไม่เชื่อถือนักการเมือง และ 3.ทำให้นักลงทุนต่างชาติรับรู้ว่าประเทศไทยไม่รักษากฎหมาย ซึ่งอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะมีกฎหมายใดมาล้มล้างความผิดอีก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การปรับลดอันดับของประเทศ
 

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกทม.และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ 1,198 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.– 2 พ.ย. ของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง “บทบาทของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 87.2% ไม่เชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นไปเพื่อสร้างความปรองดองของประเทศ เพราะคิดว่าเพื่อผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีเพียง 12.8% เชื่อมั่นว่าเพื่อสร้างความปรองดอง

ที่น่าพิจารณาคือประชาชน 80.3 % รู้สึกผิดหวังต่อการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต่อสถานการณ์ในขณะนี้ เพราะคิดว่ารัฐบาลทำเพื่อพวกพ้องของตนเองมากกว่าทำเพื่อประชาชนโดยส่วนร่วม

ในขณะที่ 19.7% ไม่รู้สึกอะไร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อสอบถามถึงบทบาทของรัฐบาลในขณะนี้ พบว่า 79.9% ระบุว่ารัฐบาลเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง ในขณะที่ 20.1% ระบุว่าสร้างความปรองดอง

ทั้งนี้ได้สอบถามถึงความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พบว่าประชาชนกว่า 67.6 % ระบุว่า มีน้อยถึงไม่มีเลย

ในขณะที่ 14.1 % ระบุมากถึงมากที่สุด และ 18.3 % ระบุปานกลาง และเมื่อเปรียบเทียบความขัดแย้งรุนแรงของสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า 89.4 % คิดว่าขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น

ในขณะที่ 9.2 % คิดว่าเหมือนเดิม และ 1.4 % คิดว่าลดลง

 


  


LastUpdate 03/11/2556 19:14:55 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:42 pm