เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ทริสเรทติ้งชี้ โครงการลงทุนภาครัฐ: ปัจจัยสำคัญกระตุ้นการก่อสร้าง


 

 

 

บริษัททริส เรทติ้ง จำกัดเปิดเผยผลวิจัยอุตสาหกรรมก่อสร้าง   ชี้ โครงการลงทุนภาครัฐ: ปัจจัยสำคัญกระตุ้นการก่อสร้าง

บทสรุปสำหรับนักบริหาร

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 ซึ่งทริสเรทติ้งได้จัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 4 บริษัท ซึ่งประกอบด้วย บริษัทบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) อันดับเครดิตองค์กรเท่ากับ A-/stable บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) อันดับเครดิตองค์กร BBB+/stable บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (SYNTEC)  อันดับเครดิตองค์กร BBB-/stable และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) อันดับเครดิตองค์กร BBB-/stable

ณ สิ้นปี 2555 บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 17 บริษัท มีสินทรัพย์รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 194,000 ล้านบาท บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งจำนวน 4 บริษัทดังกล่าวมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 70% ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

 

ทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายตัวของโครงการก่อสร้างในประเทศไทยในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะมีอัตราการขยายตัวที่แท้จริงประมาณ 5%-7% ต่อปี (หรือเทียบเท่าอัตราการขยายตัว ณ ราคาตลาดประมาณ 8%-10% ต่อปี) ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยอุตสาหกรรมจะได้รับการกระตุ้นเพิ่มขึ้นจากโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของภาครัฐ ทั้งจากโครงการที่อยู่ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ (หรือที่เรียกว่า โครงการ 2 ล้านล้านบาท) รวมทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 350,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการนี้คาดว่าน่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมในปี 2557 เป็นต้นไป และน่าจะทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% ต่อปี นั่นคือทำให้อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 10%-12% ต่อปี หลังจากโครงการเริ่มขึ้น 
 
ปัญหาที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างในปัจจุบันส่วนใหญ่เผชิญอยู่ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง และปัญหาการขึ้นค่าแรงงานตามนโยบายการขึ้นอัตราการจ้างงานขั้นต่ำ

ทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมการก่อสร้างโดยรวมของประเทศไทยในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 5%-7% ต่อปี โดยจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการแกว่งตัวของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาเดียวกัน แต่การขยายตัวน่าจะมีความผันผวนมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบที่เคยเป็นมาในอดีต

รายได้และภาระหนี้ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จัดอันดับเครดิตคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะ 3 ปีข้างหน้า

รายได้ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งปรับสูงขึ้นในปี 2555 จากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งจากการรับรู้รายได้ของงานก่อสร้างที่เสร็จและส่งมอบหลายโครงการ ทั้งนี้ จากการที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ๋ได้รับงานก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาลหลายโครงการในอนาคต จึงคาดว่าจะมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย

ภาระหนี้ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีการลงทุนระยะยาวมักมีแนวโน้มที่จะมีภาระหนี้สูงเนื่องจากเงินลงทุนที่ต้องใช้จำนวนมาก เช่น ในกรณีของ ITD และ CK เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั่วไป โดยผลตอบแทนต่อบริษัททั้งสองจะอยู่ในรูปของเงินปันผล และความยืดหยุ่นทางการเงินจากการถือครองหลักทรัพย์สภาพคล่องสูง ภาระหนี้ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงการใหม่ ๆ นอกจากนี้ บริษัทรับเหมาก่อสร้างบางแห่งได้มีการขยายการลงทุน และการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไปในต่างประเทศเพื่อชดเชยการลงทุนในประเทศช่วงที่ภาวะการลงทุนชะลอตัว ในปัจจุบัน ITD และ CK มีโครงการก่อสร้างและลงทุนในต่างประเทศ

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ


ต้นทุนค่าแรงงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งบริษัทรับเหมาก่อสร้างบางแห่งจะมีแรงงานก่อสร้างของตนเองอยู่แล้ว ในขณะที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างบางแห่ง ซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทขนาดกลางถึงขนาดเล็กอาจไม่มีแรงงานก่อสร้างของตนเอง แต่มักใช้บริการของบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กให้รับช่วงงานก่อสร้างอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจทำให้มีผลกระทบถึงความสามารถในการทำงานได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีผลมาตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา ยังทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นมากถึง 40% บางจังหวัด ทำให้ต้นทุนแรงงานในต่างจังหวัดสูงขึ้นมาก

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในอีก 3 ปีข้างหน้า


ทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายตัวของโครงการก่อสร้างในประเทศไทยในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะมีอัตราการขยายตัวที่แท้จริงประมาณ 5%-7% ต่อปี (หรือเทียบเท่าอัตราการขยายตัว ณ ราคาตลาดประมาณ 8%-10% ต่อปี) ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยอุตสาหกรรมจะได้รับการกระตุ้นเพิ่มขึ้นจากโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของภาครัฐ ทั้งจากโครงการที่อยู่ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ (หรือที่เรียกว่า โครงการ 2 ล้านล้านบาท) รวมทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 350,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าน่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมในปี 2557 เป็นต้นไป และน่าจะทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% ต่อปี นั่นคือทำให้อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 10%-12% ต่อปี หลังจากโครงการเริ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในระดับของผู้ประกอบการธุรกิจ และในระดับของครัวเรือนจากภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการผกผันของภาวะเศรษฐกิจซึ่งอาจจะทำให้การลงทุนชะงักงันได้ แม้ว่าในระยะสั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงได้รับประโยชน์จากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับภาระจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ได้


 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ย. 2556 เวลา : 17:02:53
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:44 pm