นักวิชาการสุขภาพหนุนขึ้นภาษีเครื่องดื่มและชาเขียว แนะคุ้มค่ารัฐฯได้ทั้งเงิน คนได้สุขภาพ ชี้ระบบปัจจุบันยิ่งทำลายสุขภาพยิ่งจ่ายภาษีถูก ทำคนไทยติดหวานพุ่ง
นพ. ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) เผยว่า มาตรการทางภาษีและราคาสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ถูกจัดเป็นหนึ่งใน 6 มาตรการที่มีประสิทธิผลและความคุ้มค่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำประเทศต่างๆนำมาจัดการวิกฤติโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคไม่ติดต่ออื่นๆ ปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้นจากทั่วโลก และขอสนับสนุนแนวทางของกระทรวงการคลังในการขึ้นภาษีเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตามควรกำหนดทิศทางนโยบายภาษีตอบสนองทั้งเป้าหมายทางภาษีในขณะที่ประชาชนก็มีสุขภาพดีขึ้น เช่น การกำหนดอัตราภาษีให้สอดคล้องกับระดับน้ำตาล และมีความครอบคลุมและเสมอภาคกับเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะประเภทชาเขียวเท่านั้น นอกจากนั้นในอนาคตยังอาจดำเนินงานควบคู่ไปกับ มาตรการทางราคาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มากขึ้น
ด้าน ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาปริมาณการบริโภคน้ำตาลของประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยครึ่งหนึ่งของน้ำตาลที่คนไทยบริโภคมาจากเครื่องดื่มรสหวาน ประชากรไทยโดยเฉลี่ยดื่มเครื่องดื่มรสหวานอย่างเช่นน้ำอัดลม ชาเขียว มากกว่านมหลายเท่า ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากความจริงที่พบว่า ราคาขายเครื่องดื่มที่มีรสหวาน อย่างน้ำอัดลมและชาเขียว มีราคาถูกกว่าเครื่องดื่มที่เราควรส่งเสริมให้ประชากรไทยบริโภคอย่างเช่นนมและน้ำผลไม้ หลายคนยังมีทัศนคติที่ว่าชาเขียวเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งที่จริงชาเขียวที่ขายกันในท้องตลาดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก มากถึง 15 ช้อนชาต่อขวด สูงไม่ต่างจากน้ำอัดลม ข้อมูลทางวิชาการยืนยันได้ว่าการขึ้นภาษีเครื่องดื่มรสหวานจะส่งผลให้คนบริโภคน้ำตาลน้อยลง เกิดผลดีต่อสุขภาพตามมา โดยเฉพาะการรับมือกับวิกฤติโรคเบาหวาน
ส่วน น.ส.สิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้จัดการแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) กล่าวเพิ่มเติมว่าภาษีเครื่องดื่มรวมถึงภาษีชาเขียวไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่ระบบภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มในปัจจุบัน ไม่ได้สอดคล้องกับการจัดการปัญหาสุขภาพ โดยเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเครื่องดื่มที่ไม่เติมถึง 25% เช่นเดียวกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก็ได้รับการยกเว้นภาษี อีกทั้งยังไม่มีการปรับอัตราภาษีมานานมากตั้งแต่มีพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงการคลังยกเครื่องระบบภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มโดยพิจารณาจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบ
ข่าวเด่น