ธนาคารกรุงเทพเผยยุทธศาสตร์สู่อนาคต กระชับพื้นที่เศรษฐกิจหลัก "จีน-อาเซียน" รุกเปิดสาขาตปท. รักษาพอร์ตธุรกิจนอก 18% เจาะตลาดเติบโตสูง เชื่อมเครือข่ายธุรกิจพร้อมบริการลูกค้า ล่าสุดเปิดสาขาที่ 3 ในอินโดนีเซีย จับลูกค้าธุรกิจเกษตร
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การเติบโตสู่อนาคตของธนาคารได้ประเมินตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มองว่ามีศักยภาพเติบโต 2 ส่วนคือ จีน (รวมถึงฮ่องกง และไต้หวัน) และอาเซียน ขณะเดียวกันก็จะพยายามเติบโตไปตามความพร้อมของลูกค้าที่จะสามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจได้และศักยภาพของธนาคารที่จะเข้าไปให้บริการในพื้นที่นั้นๆ ด้วย
"ปัจจุบันเรามีฐานสินเชื่อจากสาขาในต่างประเทศและบริษัทลูกที่เป็นธนาคารซึ่งจดทะเบียนในต่างประเทศ ประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 16-18% ของฐานสินเชื่อรวมในปัจจุบัน ซึ่งเรามองว่าเป็นระดับที่เหมาะสม และคงพยายามรักษาให้อยู่ในระดับนี้"
นายโฆสิตกล่าวอีกว่า โอกาสการออกไปเติบโตในต่างประเทศนั้น ธนาคารมองว่ายังมีศักยภาพอีกมาก เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจไทยเริ่มประสบปัญหาสำคัญบางเรื่อง เช่น ตลาดที่จำกัด และปัจจัยการผลิตอย่างทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน เริ่มขาดแคลนหรือมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก ที่ผ่านมาธุรกิจไทยก็เริ่มสะสมความรู้ในการผลิตและรับเทคโนโลยีเข้ามาบางส่วนแล้ว ก็เป็นจังหวะที่จะย้ายฐานการผลิตออกไปในพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ในเรื่องนี้ให้แก่ธุรกิจได้ดีกว่า เช่น ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และแรงงานยังมีเหลือเฟือ
เมื่อลูกค้าธุรกิจเห็นภาพเช่นนี้ ในมุมของธนาคารกรุงเทพก็มองว่า นี่คือโอกาสที่จะเพิ่มตลาดใหม่ๆ ได้ทั้งการตามออกไปบริการลูกค้าเดิมไม่ว่าจะเป็นลูกค้าธุรกิจไทยหรือจากสาขาในประเทศต่างๆ ของธนาคารที่สนใจขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และยังรวมถึงโอกาสเข้าหาลูกค้าใหม่ๆ ในประเทศปลายทางด้วย
ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพได้เปิดสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ที่เมืองเมดาน เมืองเศรษฐกิจอันดับ 3 ของประเทศอินโดนีเซีย โดยนับเป็นสาขาที่ 3 ของธนาคารหลังจากสาขาแรกอยู่ที่เมืองจาการ์ตา เปิดบริการตั้งแต่ปี 2511 ก่อนจะทิ้งช่วงเพิ่งมาเปิดสาขาที่ 2 ที่เมืองสุราบายา เมื่อปีที่แล้ว
"เรามองว่าอินโดนีเซียมีศักยภาพเติบโตสูงมาก จีดีพีเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% และมีประชากรมากถึง 240 ล้านคน เป็นได้ทั้งตลาด ฐานการผลิต และแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ซึ่งในฝั่งเมืองเมดานจะเป็นธุรกิจด้านเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว น้ำตาล ยาง เป็นต้น ต่างจากฝั่งเมืองสุราบายาที่จะเป็นธุรกิจภาคการผลิตและอุตสาหกรรมมากกว่า เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี รวมถึงเทรดิ้ง" นายโฆสิต กล่าว
ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า อินโดนีเซียมีความน่าสนใจตรงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตมากขึ้น ปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 3,000 ดอลลาร์/คน/ปี ซึ่งคลายกับประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ต่างกันตรงที่มีขนาดใหญ่กว่าไทย 4 เท่าตัว ปริมาณการบริโภคต่างๆ ก็จะเป็นสเกลที่ใหญ่กว่า ขณะนี้รัฐบาลก็กำลังลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพิ่มเติมอีกหลายด้าน ทำให้เศรษฐกิจกำลังขยายตัวขึ้นมาก
"ตอนนี้อินโดนีเซียเริ่มมีภาพความเป็นสังคมเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเติบโตของกลุ่มคนชั้นกลาง ลักษณะการทำงาน วิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมการบริโภคสินค้า เริ่มเปลี่ยนแปลงคล้ายกับพัฒนาการของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีมากหากจะเข้ามารุกตลาดนี้เพิ่มขึ้น" นายชาติศิริ กล่าว
ที่ผ่านมาธุรกิจของธนาคารกรุงเทพในอินโดนีเซียถือว่าเติบโตได้ดีมาก โดยเฉพาะในระยะหลังที่ประเทศเริ่มพัฒนามากขึ้น ปีที่ผ่านมามีฐานสินเชื่อราว 750 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าปลายปีนี้น่าจะขึ้นไปอยู่ที่ราว 1,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตราว 33%
ข่าวเด่น