นายเลิศชัย กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานกรรมการคนใหม่ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยระหว่างการพบปะเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันทั่วโลกใช้บสย.เป็นเครื่องมือช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จากการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีใต้
เช่นเดียวกับไทยที่กระทรวงการคลังใช้บสย.เป็นเครื่องมือ อยากให้สื่อช่วยเผยแพร่และสร้างการรับรู้ว่า บสย.เป็นหน่วยงานที่พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยามที่เศรษฐกิจโลกผันผวน บสย.มีบทบาทช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก
ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์กรรมการและผู้จัดการทั่วไปคนใหม่ของบสย.เช่นกันกล่าวว่า บสย.มีบทบาทช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี(SMEs)และช่วยได้จริงๆ โดยบสย.ช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจได้ในกรณีที่หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอแต่ธนาคารพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถชำระเงินกู้คืนได้
ทั้งนี้บสย.จะเข้าช่วยค้ำประกันส่วนเงินกู้ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการเพิ่มเติมโดยจ่ายเบี้ยประกันเพียง 1.75% ต่อปีซึ่งถูกกว่ามากหากเทียบกับการต้องไปกู้เงินนอกระบบโดยบสย.จะค้ำประกันเงินกู้ให้เฉลี่ยรายละประมาณ 3 ล้านบาทแต่สามารถค้ำประกันได้สูงสุดถึง 40 ล้านบาทต่อราย
"บสย.มีบทบาทเหมือนพระเอก ในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศไม่ดี เพราะเป็นช่วงที่ธนาคารต่าง ๆ คุมเข้มด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้น
สำหรับการดำเนินการของบสย.ประมาณ 22 ปีที่ผ่านมาค้ำประกันไปแล้วรวม 3.1 แสนล้านบาท มากกว่า 1 แสนราย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของสินเชื่อในระบบ 4.95 หมื่นล้านบาทและเกิดการหมุนเวียนของเงินค้ำประกัน 4.95 x 10 และเกิดการจ้างงานราว 2.14 ล้านราย เวลานี้คงเหลือยอดค้ำประกัน 2.2 แสนล้านบาท หายไปมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท
ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่า เป็นเพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแข็งแรงขึ้นและถือเป็นความสำเร็จของบสย.ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นมา คือช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงเงินกู้ในระบบช่วยให้ประกอบธุรกิจได้และแข็งแรง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของชาติดีขึ้นตามมาได้โดยในปีนี้เอสเอ็มอีมีสัดส่วนส่งเสริมการเติบโตของค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)
37%"
นายวัลลภยังประเมินว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อของปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ 8.4 หมื่นล้านบาท จาก6.4 หมื่นล้านบาทของปีที่แล้ว
สำหรับปีหน้า 2557 ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อที่ 1 แสนล้านบาทและนำตัวเลขสัดส่วนเอสเอ็มอีใน GDP มาเป็นเป้าหมายด้วย ซึ่งไทยยังต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นที่มีเอสเอ็มอีอยู่มากถึง 4.4 ล้านรายและมีสัดส่วนในGDP 56% เกาหลีใต้เอสเอ็มอีมีสัดส่วนในGDP 47% การขับเคลื่อนของบสย.ปีหน้าจะมีแนวทางเดียวกับรัฐบาลที่อยากทำให้เอสเอ็มอีมีสัดส่วนใน GDP ที่ 43% ซึ่งบสย.จะช่วยได้ ผ่านผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และยังมีแนวคิดจัดเครดิตเรทติ้งเอสเอ็มอีด้วย ที่เชื่อว่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้อีกทางหนึ่ง
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปบสย.กล่าวเสริมถึงแผนงานในปีหน้าว่า อยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค้าขายได้มากขึ้นมียอดค้ำประกันเพิ่มไม่น้อยกว่า 20% หรืออย่างน้อย 1 แสนล้าน โดยจะดำเนินการผ่านผลิตภัณฑ์หลายอย่าง อาทิ PGS 5 สำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอี ,Start Up ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่และ Flood โครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขณะเดียวกันยังมีความร่วมมือกับเอสเอ็มอีแบงค์และปรับโครงสร้างกระจายการค้ำประกันสินเชื่อไปยังผู้ประกอบการโอท็อปและรายย่อยเช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเพิ่มขึ้นด้วย โดยกลุ่มโอท็อบมีวงเงินค้ำประกัน 1 หมื่นล้านบาทส่วนกลุ่มแม่ค้ามีวงเงิน 5 พันล้านบาท ซึ่งจะค้ำประกันให้รายละ 2 แสนบาท
ข่าวเด่น