คดีปราสาทพระวิหาร เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร
ปัญหาเกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2502
ซึ่งศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม
สำหรับ ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มต้นในเดือนมิถุนายน 2551 กรณีพิพาทพรมแดนพื้นที่ปราสาทพระวิหาร หลังจากนั้น ก็ได้มีการปะทะระหว่างกำลังทหารทั้งสองฝ่ายหลายครั้ง พร้อมกับการอ้างสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายเหนือดินแดนพิพาทดังกล่าว
โดยเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นให้ศาลโลกตีความ คดีปราสาทเขาพระวิหาร และให้ออกมาตรการชั่วคราวให้ไทยถอนกำลังออกจากพื้นที่ และเมื่อวันที่ 15-19 เมษายน 2556 ศาลโลกนัดไทย-กัมพูชา กล่าวถ้อยคำแถลงฝ่ายละ 2 รอบ จนนำมาสู่การตัดสินของศาลโลกในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556
สำหรับการติดตามการตัดสินของศาลโลก รัฐบาลได้จัดผังรายการพิเศษ โดย จะเริ่มถ่ายทอด รายการสดตั้งแต่เวลา 15.00 นาฬิกา เป็นต้นไป ทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 และโมเดิร์นไนท์ทีวี โดยช่อง 11 จะเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ และช่อง 9 จะเผยแพร่ ทั้ง 2 ภาษา ขณะที่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ FM 92.5 // AM 891 กิโลเฮิร์ตซ์ รวมถึง FM 100.5 ถ่ายทอดเสียงภาษาไทย และ FM 88.0เมกะเฮิร์ตซ์ จะถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ
ช่องทางติดตามคดีปราสาทพระวิหาร
1. ช่อง 9 ถ่ายทอดสด ทั้งเสียงภาษาอังกฤษและแปลเป็นไทย
2. ช่อง 11 ถ่ายทอดสดและเสียงเป็นภาษาไทย
3.คลื่น FM 92.5 และ AM 891 ถ่ายทอดเสียงภาษาไทย และ FM 88 ถ่ายทอดเสียงภาษาอังกฤษ
4. คลื่น FM 100.5 ถ่ายทอดเสียงเป็นภาษาไทย
5. คลื่น AM 1575 ถ่ายทอดเสียงเป็นภาษาไทย
ทั้งนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะรวมตัวติดตามสถานการณ์ที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามการอ่านคำพิพากษาของศาลโลกอย่างใกล้ชิด
ในเวลา 19.30 นาฬิกา และนายกรัฐมนตรี จะอ่านคำแถลงการณ์ผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และในเวลา 22.00 นาฬิกา กระทรวงการต่างประเทศ จะสรุปผลคำพิพากษาอย่างละเอียดอีกครั้ง
ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ผลการตัดสินของศาลโลกที่มีความเป็นไปได้มี 4 แนวทาง ได้แก่
1. ศาลโลกยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดี
2. ศาลโลกพิพากษาให้ใช้แนวเขตเดิมที่คณะรัฐมนตรีไทยได้ยกพื้นที่ให้กัมพูชาตั้งแต่ปี 2505
3. ศาลโลกให้ขยายเขตพื้นที่รอบตัว “ปราสาทพระวิหาร” ให้แก่กัมพูชา
4. ศาลโลกให้ใช้เส้นเขตแดนตามแผนที่1ต่อ2 แสนตารางกิโลเมตร ที่ฝรั่งเศสกำหนดขึ้นเอง
ข่าวเด่น