รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคจาก 3 ไวรัสตลอดฤดูหนาว ได้แก่ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 และโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีการระบาดของไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกตามแนวชายแดน การอพยพของนกธรรมชาติ รวมทั้งมีชาวไทยมุสลิมเดินทางกลับจากพิธีแสวงบุญฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังมีการระบาดของโรคโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 โดยให้สอบสวนโรคและส่งตรวจยืนยันเชื้อในผู้ป่วยปอดบวมรุนแรงทุกราย ขอความร่วมมือประชาชนอย่านำซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ปีกกำลังป่วยมาบริโภค และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งสภาพอากาศเอื้อต่อเชื้อไวรัส มีความเป็นห่วงโรคติดเชื้อจากไวรัส โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงและมีอันตรายสูง ซึ่งมีแหล่งระบาดในต่างประเทศในขณะนี้ ได้แก่ 1.เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ซึ่งไทยเคยพบผู้ป่วยในประเทศรายสุดท้ายเมื่อปี 2549 หลังจากนั้นไม่มีรายงานติดต่อกันมาจนถึงขณะนี้ แต่มีความเสี่ยงเชื้อเข้าในประเทศตลอดปี จากการที่ประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกตามแนวชายแดน
2.ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) และ3.โคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 ซึ่ง 2 ชนิดหลังนี้ในไทยยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย สำหรับไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 มีความเสี่ยงเชื้อเข้ามาในประเทศจากการอพยพของนกธรรมชาติจากประเทศจีน อาจนำเชื้อไวรัสเอช 7 เอ็น 9 มาได้ ส่วนโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 ซึ่งพบแหล่งติดเชื้ออยู่ที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง และเชื้อมีโอกาสเข้าสู่ไทยได้จากการเดินทาง
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบเฝ้าระวังในชาวไทยมุสลิมจำนวน 10,400 คน ซึ่งกำลังทยอยเดินทางกลับจากการแสวงบุญฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย คาดว่าจะเดินทางกลับมาหมดในกลางเดือนพฤศจิกายน จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตลอดฤดูหนาว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีไข้และมีปัญหาปอดบวมรุนแรง ให้ดำเนินการสอบสวนโรคและประวัติการสัมผัสเชื้อ และส่งตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อที่จะสามารถตรวจจับโรคได้อย่างทันท่วงที และควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนอย่านำซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ปีกกำลังป่วยมาบริโภค หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรืออสม.
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการจัดระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และโรคโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 จะใช้ระบบเดียวกัน โดยดำเนินการในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดบวมรุนแรง กรมควบคุมโรคได้จัดไว้ 2 ระบบ คือระบบปกติ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 พฤศจิกายน 2556 มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 153,472 ราย เสียชีวิต 855 ราย ยังไม่พบติดเชื้อดังกล่าว และระบบการเฝ้าระวังพิเศษในกลุ่มชาวไทยมุสลิมที่เดินทางกลับจากการแสวงบุญฮัจญ์ที่ผ่านมาถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน จำนวน 10,168 คนจาก 102 เที่ยวบิน พบป่วยและปอดบวมร่วมด้วยจำนวน 25 ราย ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ยังไม่พบรายงานการติดเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ 2012
ทั้งนี้ สถานการณ์ของโรคโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 – 4 พฤศจิกายน 2556 ทั้งสิ้น 150 ราย เสียชีวิต 64 รายใน 10 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อังกฤษ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี ตูนีเซีย อิตาลี และโอมาน ส่วนสถานการณ์ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่ 1 มกราคม – 8 ตุลาคม 2556 มีรายงานผู้ป่วย ใน 6 ประเทศ รวม 31 ราย เสียชีวิต 20 ราย ประเทศกัมพูชา 20 ราย เสียชีวิต 11 ราย อียิปต์ 4 ราย เสียชีวิต 3 ราย จีน 2 ราย เสียชีวิต 2 ราย เวียดนาม 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย อินโดนีเซีย 2 ราย เสียชีวิต 2 ราย และบังคลาเทศ 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม – 7 ตุลาคม 2556 มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มในประเทศกัมพูชา 3 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย
ข่าวเด่น