เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ห่วงม็อบยืดเยื้อฉุดจีดีพีปี'57เหลือแค่ 3.5-4%



 
นักเศรษฐศาสตร์ห่วงม็อบยืดเยื้อ ฉุดจีดีพีปีหน้าหล่นวูบ 1-1.5% เหลือแค่ 3.5-4% เหตุต่างชาติผวา นักท่องเที่ยวกลัว-นักลงทุนหนี หวั่นโครงการลงทุนรัฐถูกเลื่อน แถมกำลังซื้อยังแผ่ว ชี้เหลือลุ้นแค่ส่งออกโต รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้น
 

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปัจจัยผลักการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 แม้จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องระมัดระวังมากพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นการชุมนุมทางการเมือง หากไม่สามารถจัดการได้และยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ คาดว่าจะส่งผลกต่อการเติบโตจีดีพีในปีหน้าให้ลดลงไปอย่างน้อย 1-1.5% ฉะนั้นจะมีผลกระทบให้คาดการณ์จีดีพีปี 2557 น่าจะอยู่ที่ 3.5-4% เท่านั้น จากเดิมที่คาดไว้ 5%
 
“หากปล่อยให้ปัญหาการเมืองยืดเยื้อจะกระทบทุกอย่าง ตั้งแต่การท่องเที่ยวซึ่งมีบางประเทศไม่แนะนำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย ต่างชาติก็กลัว โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่เป็นไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยวด้วย และต่อเนื่องมาถึงเรื่องการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นักลงทุนก็ยิ่งมองข้ามเหมือนกัน เพราะเขาไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุนไปด้วย”
 

 

ขณะที่ปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจที่เคยเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อย่างการเติบโตในต่างจังหวัด ก็อาจจะชะลอตัวลงไปบ้าง เนื่องจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจไม่ชัดเจน และปัจจัยที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าอย่างโครงการลงทุนของภาครัฐบาล ถ้ารัฐบาลจะต้องมาจัดการกับปัญหาการเมืองและการชุมนุมต่างๆ ก็จะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นเพื่อพัฒนาประเทศ อาจกระทบถึงกับให้ต้องเลื่อนแผนการลงทุนออกไป ซึ่งถือว่ากระทบกับเศรษฐกิจพอสมควร
 
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นายกอบศักดิ์มองว่า ยังเป็นประเด็นที่กดดันแรงส่งการเติบโตจากภาคการบริโภคอยู่มากพอสมควร แม้ว่าตอนนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงแล้ว รวมถึงปีหน้าประชาชนน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับภาระหนี้ก็จะทำให้กำลังความสามารถใช้หนี้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่จังหวะที่จะเป็นแรงส่งสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
 
นายกอบศักดิ์กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตได้คือ ภาคการส่งออกที่น่าจะฟื้นกลับมาได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในเงื่อนไขที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดระดับวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ลงด้วย
 
“หากในช่วงต้นปีหน้าสหรัฐสามารถจัดการปัญหาเรื่องงบประมาณการคลังและเพดานหนี้ที่ถูกยืดออกมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ได้จบ และสัญญาณทางเศรษฐกิจสหรัฐสนับสนุนชัดเจนว่าดีขึ้นแล้ว ก็น่าจะเพียงพอให้เฟดสามารถลดระดับวงเงินคิวอีได้ หมายถึงเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวแล้ว ก็เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ภาคการส่งออกของไทยจะได้รับอานิสงส์ตรงนี้ไปด้วย” นายกอบศักดิ์กล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ย. 2556 เวลา : 17:53:54
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 10:36 pm