หลังการชุมนุมผ่านไป15 วัน ต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้ว 2 หมื่นกว่าล้านบาท ส่งผลยอดรวมต่างชาติทิ้งหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่13 พฤศจิกายนที่ผ่านมากว่า 1.2 แสนล้านบาทแล้ว
ปัจจัยที่กำลังรุมเร้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากต้นปีภาพที่นักลงทุนทุกคนจินตนาการไว้อย่างสวยหรู บวกกับคาดการณ์จากสำนักวิเคราะห์ต่างๆ ที่ประเมินตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสไปได้ถึง1,700 จุด และกำไรบริษัทจดทะเบียนที่จะเติบได้ถึง20 % ที่แม้แต่ "จรัมพร โชติกสเถียร" กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท. ) ยังออกโรงสร้างความมั่นใจนักลงทุนว่า ตลาดหุ้นไทยพื้นฐานยังไม่เปลี่ยน และยังมีพีอีต่ำกว่าเพื่อนบ้านทั้งเศรษฐกิจในประเทศและกำไรบริษัทจดทะเบียน
แต่สัญญาณได้เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจัยต่างประเทศกดดันตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ซึ่งเป็นมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบของสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของไทยเองที่เริ่มออกมาไม่เป็นตามที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี รวมไปถึงตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2/2556 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ ทำให้แต่ละสำนักวิเคราะห์เริ่มปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรลงอย่างต่อเนื่อง
และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากผลสำรวจของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนได้เสนอผลการสำรวจ พบว่า มีการปรับคาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทยลงเหลือ 1,569 จุด จากเดิม 1,700 จุดรับอานิสงส์โครงการลงทุนภาครัฐ 2 ล้านล้านบาท เหล่านี้เป็นภาพในอดีตที่ได้วาดฝันเอาไว้
เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันที่โดนมรสุมการเมือง จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย เพื่อส่งเสริมให้คนทุจริตคอร์รัปชั่น ได้มีการรวบรัดและผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรเพียงชั่วข้ามคืน จนเป็นที่มาของการชุมนุมบนท้องถนนของประชาชน นักธุรกิจ นักวิชาการ นักศึกษา ต่างออกมารวมตัวกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อกดดันรัฐบาลและก็เป็นผลสำเร็จ โดยนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาแถลงยอมถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออก และยังตามมาด้วย วุฒิสภาก็มีมติคว่ำร่างดังกล่าวแล้วแต่ยังมีโอกาสดึงกลับมาได้ภายใน 180 วัน ทำให้การชุมนุมยังมีต่อ
ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งจากความไม่แน่นอน และการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยต่อ หากมีการส่งเสริมคนทุจริตคอร์รัปชั่นภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดย นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ภาคตลาดทุนไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนตั้งแต่ต้นอยู่แล้วโดยผ่านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กรณีพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่มีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 เนื่องจากเป็นการลดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศต่อการตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นไทย และมีแนวโน้มที่ต่างชาติจะต้องปรับลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้
ส่วนผลสะท้อนออกมาแล้วว่าตั้งแต่ชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง ต่างชาติได้ขายหุ้นไทยไป 2 กว่าหมื่นล้านบาทเพียงในระยะเวลา 15 วัน และหากย้อนไปตั้งแต่ต้นปีต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากผลการรายงานสรุปภาวะตลาดหลักทรัพย์ประจำเดือนตุลาคม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตลท.ยอมรับหุ้นไทยไม่ได้ถูกแล้วเมื่อเทียบกับภูมิภาคแล้ว โดย ณ สิ้นเดือน ตุลามคมที่ผ่านมา เฉลี่ยพีอี (forward P/E) ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 14.6 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศเพื่อนบ้านที่มีพีอีเฉลี่ย 13.86 เท่า
ด้าน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ปัจจัยการเมืองถือเป็นปัจจัยหลักที่ต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาและยังมีโอกาสที่จะยังขายออกมาต่อเนื่อง แม้ว่าวุฒิสภามีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปแล้วก็ตาม หากประเมินปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงจากผลประการการไตรมาส 3 ที่ออกมา ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างทยอยปรับตัวเลขกำไรลงได้อีก เช่นเดียวกับฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัสฯ ประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีจะอยู่ที่ 1,367 จุด หากพีอีอยู่ที่ 14 เท่า และดัชนีจะอยู่ที่ 1,465 จุดหากพีอี 15 เท่า ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ถือว่าถูก และยังมีปัจจัยลบกดดันอีก จึงมีโอกาสที่ต่างชาติยังจะขายหุ้นไทยออกมาได้อีกอย่างต่อเนื่องด้วย
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไตรมาส 3/2556 ทยอยประกาศออกมาเริ่มมีบางบริษัทที่ผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาด และเริ่มทยอยปรับคาดการณ์ผลการดำเนินงานลง ซึ่งกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ความต้องการหรือดีมานชะลอตัวลง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เรื่องความเข้มงวดปฏิเสธการให้สินเชื่อของผู้ขอสินเชื่อ รวมถึงกลุ่มอุปโภคบริโภค เป็นต้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และปัจจัยการเมืองที่อาจจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายล่าช้า จนเริ่มมีความเสี่ยงเช่นกันในระยะ 6 เดือนข้างหน้า
ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง จึงได้ปรับประมาณอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (EPS)ของปี 2556 เหลือ 10 % จาก เดิม 15 % สะท้อนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือ พีอี เหลือ 13.5 เท่า และดัชนีตามปัจจัยพื้นฐานที่ระดับ 1,400 จุด ซึ่งต่อเนื่องไปถึงปี 2557 ก็ปรับประมาณการ EPS ลง เหลือ 15 % จากเดิม 18 % ซึ่งสะท้อนดัชนีปีหน้าที่ระดับ 1,550 จุด และจะทยอยปรับลงอีกหลังผลประกอบการไตรมาส 3/2556 ของบริษัทจดทะเบียนประกาศครบ
บทสรุป "เสน่ห์หุ้นไทย หมดมนต์ขลังลงแล้วหรือ" เป็นเพราะปัจจัยระยะสั้นทางด้านการเมือง หรือปัจจัยระยะยาวจากพื้นฐานที่เปลี่ยนที่ต่างชาติเทขายหุ้นไทยออกมาต่อเนื่อง 1.2 แสนล้านบาท หรือความจริงเป็นเพราะตลาดหุ้นไทยไม่ได้ถูกแล้วกันแน่ !!!!
ข่าวเด่น