ซีเอสอาร์-เอชอาร์
ดันนโยบายพัฒนานาโนฯ หวังไทยผู้นำวิจัยอาเซียน


 

 

 

สวทน.ร่วมนาโนเทค จัดสัมนา“การสร้างความตระหนักรู้และการขับเคลื่อนกรอบนโยบายการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศ ชี้อนาคตเป็นเทคโนฯที่มีบทบาทสูงต่ออุตสาหกรรม ทั้งอาหารและการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สิ่งทอ เคมีปิโตรเคมี สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม เร่งขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา หวังไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค

 

 

 

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา “การสร้างความตระหนักรู้และการขับเคลื่อนกรอบนโยบายการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศ จัดโดย สวทน.และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ห้องประชุมแมนดารินแกรนด์ บอลรูม เอ โรงแรมแมนดาริน ถนนพระราม 4

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีแนวโน้มเป็นระดับเล็กและระดับจิ๋วมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นาโนเทคโนโลยีมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสาขา อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหารและการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สิ่งทอ เคมีปิโตรเคมี สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกันผลของการพัฒนานาโนเทคโนโลยี ในปัจจุบันก็ไม่ได้เพียงแค่อื้อให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ยังจำเป็นที่ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติอื่นๆ เช่น  ในอนาคตนาโนเทคโนโลยีอาจจะเข้าถึงชาวบ้านและชุมชนมากขึ้น

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับกระแสการพัฒนาการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี อย่างน้อยเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้นใน 2 ภูมิภาค ทั้งในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป  สำหรับประเทศสมาชิก 10 ประเทศในอาเซียน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนด้านนาโนเทคโนโลยี ที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศอาเซียนต่อไป ซึ่งการสัมมนาสร้างความตระหนักครั้งนี้ จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ มีข้อมูลที่รู้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อพัฒนากรอบนโยบายนาโนเทคฯ ที่จัดทำขึ้นเรียบร้อยแล้ว ให้นาโนเทคโนโลยีในประเทศไทยก้าวไปได้อีกขั้นหนึ่งด้วย

 

 

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค ) สวทช. กล่าวว่า หากมองย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนนาโนเทคโนโลยี สังคมจะคาดหวังว่านาโนเทคโนโลยีจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลก คล้ายๆกับเทคโนโลยีด้านไอที  และยังคาดหวังว่า ในปี 2015 ผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีจะมีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่การคาดการณ์ดังกล่าวนั้นถือว่าผิดหมด ที่ผิดเพราะมีการคาดว่าจะเกิดบริษัทที่เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีแต่กลับไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น นาโนเทคโนโลยีได้เข้าไปเป็นเหมือนยาดำในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ เทคโนโลยีนาโนนั้นได้ถูกนำไปใช้และแทรกซึมเข้าไปเป็นกลไกหลักให้บริษัทต่างๆ ได้ใช้เทคโนโลยีนาโน เช่น บริษัทยา ใช้นาโนเทคโนโลยีด้านนาโนเกี่ยวกับการนำส่งยา เป็นต้น   

ผอ.ศูนย์นาโนเทค กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อให้ความสำคัญกับนาโนเทคโนโลยีในประเทศไทย ปัจจุบัน สวทน.และ ศูนย์นาโนเทค จึงได้จัดทำกรอบนโยบายการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศ 2555-2564 ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 กันยนยน 2555 เห็นชอบแล้ว โดยกรอบดังกล่าวฯมีเป้าหมาย  3 ด้าน ได้แก่ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.ยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ3.ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการศึกษาและการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของภูมิภาคอาเซียน  

"กรอบนโยบายด้านนาโนเทคฯ มีการขับเคลื่อนผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่          1 ยกระดับคุณภาพชีวิต สุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข ด้วยนาโนเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ที่ 2    เพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิตด้วยนาโนเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมความมั่นคงทางพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนด้านนาโนเทคโนโลยี และยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยเอื้อที่ทำให้นาโนเทคโนโลยีสามารถพัฒนาได้อย่างไม่หยุดนิ่ง” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว และว่า

อย่างไรก็ตามประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้ทันต่อกระแสของการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยจะต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้งานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีได้เกิดการประยุกต์ใช้ร่วมกับจุดแข็งของประเทศไทย เช่น การสร้างความเชื่อมโยงผลงานงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งนาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างมากในอนาคต และที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้าง สิ่งทอ อาหารและการเกษตร เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมทางการแพทย์


LastUpdate 16/11/2556 08:39:17 โดย : Admin
21-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 21, 2024, 7:41 pm