เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB Analytics มองเศรษฐกิจไทยQ3 ฟุบมากกว่าฟื้น ยันทั้งปีโตเพียงร้อยละ 3.1


 

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองจีดีพีไตรมาสสามอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 หลังเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจรายเดือนยังคงอ่อนแอ ความหวังพึ่งพาส่งออก / ท่องเที่ยวริบหรี่ ... ยันเศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่สวยหรู


จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศออกรายงาน World Economic Outlook ฉบับเดือนตุลาคม หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงทั้งในปีนี้และปีหน้า ทำให้หลายฝ่ายกลับมากังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศอีกครั้งว่าจะแข็งแกร่งเพียงใดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศหั่นเป้าส่งออกของไทยเหลือเพียงร้อยละ 1 จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้สูงถึงร้อยละ 7   ปิดประตูความหวังพึ่งแรงขับเคลื่อนจากภาคการค้าระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่เหลือ

 


จากการเริ่มพิจารณาที่เครื่องชี้กำลังซื้อภายในประเทศช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พบว่าการใช้จ่ายทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังมีสัญญาณอ่อนแอลงค่อนข้างมาก ดังจะเห็นได้จาก ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่หดตัวร้อยละ 2.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า จากที่เคยขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 ในไตรมาสสอง ส่วนการลงทุนภาคเอกชน มีการนำเข้าสินค้าทุนหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตลดลงถึงร้อยละ 7.7 แย่ลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวเพียงร้อยละ 1.5 เนื่องมาจากฐานที่สูงจากการเร่งลงทุนและขยายกำลังการผลิตในช่วงหลังน้ำท่วมเมื่อปีก่อน

 


เมื่อมองไปถึงภาคการผลิต จะพบว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสสามหดตัวร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 4.9 เป็นผลจากการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และการผลิตเบียร์ที่พลิกกลับมาหดตัวในไตรมาสนี้ รวมถึงการผลิตกุ้งแช่แข็งที่ยังหดตัวสูง สอดคล้องกับสถิติอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงต้นปี ส่อแววเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามอาจจะยังไม่หลุดจากภาวะถดถอยทางเทคนิค


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีประเมินว่าจีดีพีในไตรมาสสามน่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ก็อาจมีปัจจัยเซอร์ไพรส์ตลาดคือ ส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังที่อาจทำให้การเติบโตของจีดีพีคลาดเคลื่อนไปจากคาดการณ์เล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสต็อกข้าวและทองคำ ทำให้เรายังคงมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ในปีนี้ ส่วนโอกาสที่จะได้เห็นตัวเลขทั้งปีที่ระดับร้อยละ 3.5-4.0 ตามที่หลายหน่วยงานคาดหวัง ก็ดูเหมือนจะริบหรี่ลง จากภาวะการบริโภคและลงทุนภายในประเทศของทั้งรัฐและเอกชนที่น่าจะชะลอตัวยาวไปถึงปีหน้า แต่น่าจะกลับมาเห็นสัญญาณบวกชัดเจนในช่วงกลางปี 2557


ความหวังของปีนี้จึงอยู่ที่ภาคส่งออกของไทย ซึ่งถ้าหากขยายตัวได้เกินคาดในช่วงไตรมาสสี่ ก็จะทำให้ตัวเลขจีดีพีออกมาสวยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ นั่นหมายความว่า การส่งออกสินค้า ต้องมีอัตราการขยายตัวทั้งปีอย่างน้อยร้อยละ 2 ซึ่งเป็นขอบบนประมาณการของเรา (ที่ร้อยละ 1.4 ถึง 2.0) และเป็นสองเท่าของเป้าหมายล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 1 ซึ่งรายงานสถิติการค้าระหว่างประเทศเดือนล่าสุดก็ยังคงบ่งชี้ว่า การส่งออกหมวดสำคัญๆ เช่น ยานพาหนะก็ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ล้วนหดตัวทั้งสิ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

 


เมื่อพึ่งการส่งออกสินค้าไม่ได้ ก็ต้องอาศัย การส่งออกบริการ ซึ่งหมายถึงภาคท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ให้มีอัตราการขยายตัวสูงเกินร้อยละ 22.6 ซึ่งสูงมาก เพราะขนาดปี 2555 ที่ท่องเที่ยวไทยขยายตัวอย่างมาก การส่งออกบริการก็ยังขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่ตัวเลขในช่วงครึ่งปีแรกของ 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น


ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจในประเทศกลุ่มใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ยังมีทีท่าไม่ได้ดีนัก กอปรกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยเองที่ส่งผลกระทบโดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นในกิจการค้าขายและการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าและบริการจึงไม่ใช่หัวจักรที่จะนำการขยายตัวของไทยในปลายปีนี้ ดังนั้น เราจึงมองว่าตัวเลขจีดีพีในไตรมาสสามที่สภาพัฒน์ฯ จะรายงาน น่าจะฟุบมากกว่าฟื้น และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตาดูเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับเซียนหุ้นทั้งหลาย ที่ตลาดอ่อนไหวกับข่าว และสามารถผันผวนขึ้นลงในอดีตได้ถึงวันละ 20-30 จุดเลยทีเดียว


LastUpdate 16/11/2556 10:42:28 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 10:56 pm