กสทช.ร่วม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและกลุ่มพันธมิตร DSA จัดการประชุมสุดยอด DSA Global Summit 2013 ครั้งแรกในไทย นำเสนอเทคโนโลยีคลื่นความถี่แห่งอนาคตสำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งจะช่วยนำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้หรือ White space ให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึง ได้ใช้ประโยชน์ในราคาที่ถูกลง
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช)ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Dynamic Spectrum Alliance (DSA) จัดการประชุมสุดยอด DSA Global Summit 2013 ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “THE DAWN OF SPECTRUM ABUNDANCE” ณ ห้องฟินิกซ์ บอลล์รูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นำเสนอเทคโนโลยีคลื่นความถี่แห่งอนาคตสำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสรรคลื่นความถี่จากทั่วโลกมาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด
รศ. สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะมาเรียกว่า “Dynamic Spectrum Allocation” หรือการจัดสรรคลื่นความถี่แบบพลวัต ที่มีพัฒนาการมานานแล้วแต่เทคโนโลยียังไปไม่ถึง แต่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มพันธมิตรที่เป็นการรวมตัวกันของทั้งภาครัฐและเอกชนยักษ์ใหญ่จากนานาประเทศ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “Dynamic Spectrum Alliance (DSA)” ประกอบด้วย USAID ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐของสหรัฐอเมริกา FCC มหาวิทยาลัย Cambridge ในลอนดอน รัฐบาลสิงคโปร์ บริษัท Microsoft บริษัท Google จากสหรัฐอเมริกาและอีกหลายองค์กร
ในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด โดยคุณสมบัติพิเศษคือ จะสามารถวิ่งไปจับคลื่นความถี่ที่ว่างอยู่ ยังไม่ได้ถูกใช้ ที่เรียกกันว่า White space มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยความความเร็วสูงแบบ Super WIFI ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ได้สะดวกยิ่งขึ้น มีการแบ่งสรรกันได้มากขึ้น ช่วยให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในราคาที่ถูกลง จึงเป็นไปได้ว่า ต่อไปอาจจะทำให้ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรทำหน้าที่จัดสรรคลื่นหรือระบบการประมูลคลื่นก็เป็นได้
“เทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยลดความขาดแคลนของคลื่นความถี่ คลื่นความถี่ในปัจจุบันสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอดีตคลื่นความถี่วิทยุส่วนใหญ่เราใช้กับ 2 กิจกรรม ได้แก่ โทรศัพท์มือถือและทีวี กิจกรรมอื่นๆ เช่น ใช้กับดาวเทียมหรือระบบทางทะเล แต่เป็นวิทยุมือถือหรือระบบที่ใช้กับบรอดแคส
ปัจจุบันมีการขยายตัวไปมาก คนใช้อินเทอร์เน็ตกันจำนวนมากและคนใช้อินเทอร์เน็ตไม่ใช่ใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ในอนาคตมีสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องติดต่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา การบริการประชาชน การเมืองและการปกครอง เพราะฉะนั้นในอนาคตคลื่นความถี่ต้องการใช้มากขึ้น
ทุกวันนี้เรามีคลื่นความถี่ที่เรียกว่า "คลื่นความถี่ราคาถูก" คือ Wi-Fi ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีมาก การมี Wi-Fiที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงคลื่นความถี่ได้และใช้ประโยชน์ได้ แนวความคิดนี้จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Super WIFI ขึ้น คือ คลื่นความถี่ที่มีคนใช้ได้อย่างมากมายขึ้น เสรี ฟรีและไม่ต้องประมูล ซึ่งเป็นแนวความคิดใหม่ที่เรากำลังทำทุกวันนี้ คือ ขยายคลื่นความถี่ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากถึง ราคาถูกลงหรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย สามารถโอนย้ายถ่ายข้อมูลทุกประเภทได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ บรอดแคสและอื่น ๆ โดยคุณสมบัติจะเหนือกว่า 3G และสามารถใช้แทนหรือเสริมส่วนขาดของบรอดแบนด์ได้ ใช้เมื่อใดก็ได้
เวลานี้หลายประเทศใช้แล้ว เช่น อเมริกาเริ่มทำแล้วที่รัฐแมรีแลนด์ อังกฤษทดลองใช้เมืองเคมบริดจ์ สวีเดน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กำลังทดลองอยู่ สิงคโปร์ก็เริ่มทำแล้ว ข้อดีคือ ไม่ได้ทิ้งอุปกรณ์ของเก่าทั้งหมด ยังใช้ของเก่าได้อยู่ ปีหน้าจะเป็นปีของ White space”
ข่าวเด่น