เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดภาพรวมค้าปลีกทั้งปีโต 9% จากที่คาดไว้ที่ 12%


 

 

 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดโค้งสุดท้ายปี 2556 บรรยากาศการจับจ่ายดีขึ้น เนื่องจากเป็นเทศกาลจับจ่ายและฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาพรวมค้าปลีกไทยทั้งปีโตได้ที่ร้อยละ 9

 



สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้แนวโน้มดัชนีผู้ค้าปลีกไทย ไตรมาส 3 ปี 2556 แผ่วลงจากไตรมาส 2 ปี 2556 กว่าร้อยละ 2.5 ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2556 คาดว่าบรรยากาศการจับจ่ายจะกลับคืน ผนวกกับในช่วงดังกล่าวเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยตัวเลขการเติบโตในปี 2556 ปรับตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 9 ลดลงจากที่คาดการไว้เมื่อต้นปีที่ร้อยละ 12 โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายของภาคประชาชนลดลงมาจากในปีที่ผ่านมา เกิดจากมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้การใช้จ่ายด้านอื่นๆต้องเพิ่มความรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ภาครัฐบาลมีการใช้จ่ายลงทุนในปี 2556 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งปี2556

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาวะอุตสาหกรรมค้าปลีก ในไตรมาส ที่ 2 ปี 2556 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างมีนัยยะสำคัญจากคาดการณ์ในช่วงต้นปี 2556 ที่ร้อยละ 12 ในขณะที่การเติบโตในครึ่งปีแรกของปี 2556 เติบโตเพียงร้อยละ 9 ซึ่งการบริโภคที่ชะลอตัวลงนั้นสืบเนื่องจากการกระตุ้นการจับจ่ายด้วยมาตรการต่างๆของภาครัฐตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้รายจ่าย ภาระการใช้จ่ายและหนี้สินของภาคประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจพบว่ายอดขายสินค้าทุกหมวดลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ประชาชนต้องลดการบริโภคลง ในขณะที่ความสามารถในการกู้ยืมของประชาชนเริ่มลดลงทำให้ไม่สามารถบริโภคเพิ่มขึ้นได้ ในส่วนที่การลงทุนในไตรมาสที่ 3 ของภาคเอกชนชะลอตัวลงเช่นกัน คาดว่าจากสาเหตุที่ผู้ประกอบการยังคงดูจากทิศทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่ชะลอตัว



โดยสินค้าหมวดคงทนลดลงจากร้อยละ 18 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 11.5 ในครึ่งแรกของปี 2556 สินค้าหมวดกึ่งคงทนลดลงจากร้อยละ 12 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 7.5ในครึ่งปีแรกของปี 2556 และสินค้าไม่คงทนลดลงจากร้อยละ 14 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 9 ในครึ่งปีแรกของปี 2556 ซึ่งผู้บริโภคในทุกระดับรายได้มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทั้งด้านผู้บริโภคและผู้ประกอบการจากสำนักต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง


นอกจากนี้ในไตรมาส 3 ปี 2556 การบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจจากสมาชิกของสมาคมฯ พบว่าตัวเลขยอดขายอยู่ในทิศทางที่ปรับลดติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายหมวดสินค้าไม่คงทน ซึ่งหมายถึงยอดขายสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันที่เติบโตลดลงจากไตรมาสที่ 2 จากร้อยละ 9 เหลือเพียงร้อยละ 3.5 ซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อในระดับผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ อีกทั้งกลุ่มเกษตรกร ที่ลดการจับจ่าย และระวังรายจ่ายให้ลดลงอย่างชัดเจน ยอดขายในหมวดสินค้าไม่คงทนเป็นยอดขายที่ใหญ่มากในอุตสาหกรรม ประมาณการยอดขายในหมวดนี้คิดเป็นร้อยละ 55-60 ของยอดขายค้าส่งค้าปลีกทั้งประเทศ

ทั้งนี้ การบริโภคที่หดตัวอย่างรุนแรง อาจเป็นไปได้ 2 ทางคือ รายได้ที่ลดลงจากราคาพืชผลที่ตกต่ำ และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าต่างๆที่ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้บริโภคในกลุ้มนี้เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศ เท่ากับประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐควรหามาตรการอย่างหลากหลายเพื่อช่วยลดค่าครองชีพครัวเรือนให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนยอดขายหมวดสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า ชะลอลงส่วนหนึ่งจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ 2 เป็นร้อยละ 5 ในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ยังมีกำลังซื้ออยู่ ยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่อาจจะระมักระวังการจับจ่าย อีกทั้งบรรยากาศการเมืองที่มีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้บรรยากาศในการจับจ่ายของผู้บริโภคลดลง

อย่างไรก็ตาม ยอดขายหมวดสินค้าคงทนยังคงมีการเติบโตถึงร้อยละ 9 ในไตรมาส 3 แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 2 เล็กน้อย สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ยังคงมีสูง โดยยอดขายส่วนใหญ่ยังคงเติบโตจากกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลจากาการเติบโตของอุตสาหกรรมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วนยอดขายกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิค ยังคงมีการเติบโตแต่ไม่เท่ากับหมวดสินค้าวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้ สินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคมีแนวโน้มราคาที่ลดลงตามแนวโน้มเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่ต้องขายสินค้าในหมวดดังกล่าวในปริมาณที่สูงขึ้นจากยอดขายเดิมเทียบจากยอดขายในปีที่ผ่านมา

จากรายงานสถาบันการเงินพบว่า ความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภค หมายรวมถึง สินเชื่อที่เกิดจากบัตรเครดิต Personal Loan และการแบ่งจ่ายเป็นรายงวด ที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า การเปิดตัวสินค้ากลุ่ม Smart Phone และโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เติบโตขึ้น โดยสรุปตัวเลขดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีก จากที่คาดการณ์เมื่อต้นปี 2556 ว่าเติบโตร้อยละ 12 และปรับตัวลงมาที่ร้อยละ 9 ในไตรมาสที่ 2 หลังจากนั้นชะลอตัวอย่างแผ่วๆลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจประเทศที่คาดการณ์การเติบโตที่ร้อยละ 5.6 แต่ปรับตัวลดลงมาที่ร้อยละ 3.5 ในช่วงสุดท้ายของปี ในส่วนของการลงทุนภาครัฐมีการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยยอดการเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ราว 2.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 90.5 ของงบประมาณประจำปีทั้งหมด นอกจากนี้งบเบิกจ่ายการลงทุนตลอดปีอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 68 ซึ่งต่ำกว่าการเบิกจ่ายที่ตั้งเป้าไว้ค่อนข้างมาก

จึงส่งผลให้เงินลงทุนจากภาครัฐเข้าสู่ระบบค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ข้อมูลศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์)

สำหรับประมาณการณ์การเติบโตปี 2557 คาดสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 9 เทียบเท่าการขยายตัวในปี 2556 หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์ความผันผวนของสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจโลก อุบัติภัยขนาดใหญ่ เชื่อว่าจะเติบโตได้ตามคาดการณ์

ข้อเสนอแนะสมาคมฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี 2556

จากประมาณการณ์ปี 2557 ที่ทางสมาคมฯคาดหมายเป้าการเติบโตใกล้เคียงกับการขยายตัวตลอดปี 2556 นั้น ทางสมาคมฯจึงเสนอแนะให้ภารัฐสนับสนุนมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆเช่นเดียวกับในปี 2556 และกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปีดังนี้

โค้งสุดท้ายปี 2556 รัฐบาลสามารถประคองเศรษฐกิจไม่ให้แผ่วลงไปกว่านี้ได้ด้วยการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและการบริหารความสมดุลย์ เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เกิดบรรยากาศในการจับจ่ายกลับมารัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนโดยการตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นนับตั้งแต่หมวดอาหาร ค่าโดยสาร และค่าเชื้อเพลิง

 



รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้แก่ประเทศ อีกทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศได้อย่างมาก ดังนั้นหากสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นพร้อมทั้งสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายสินค้าเพื่อเพิ่มอัตราการจับจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ควรออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้นักช้อปปิ้งไทยจับจ่ายในประเทศแทนที่จะนำเงินตราไปใช้ในต่าง ประเทศ

รัฐบาต้องมีการสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เนื่องจากการสนับสนุนให้ผู้ค้าปลีกไทยสามารถขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียนได้ และจะนำพาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยนับพันรายขยายตัวไปพร้อมกัน



รัฐบาลต้องมีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนในการเป็นศูนย์กลางประสานกับทุกหน่วยงาน สำหรับการลงทุนในอาเซียน

รัฐบาลควรสนับสนุนภาคการศึกษา ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานการศึกษา กระจายการศึกษาให้ทั่วถึง อีกทั้งการเพิ่มความรู้ ความสามารถเฉพาะทางในแต่ละอาชีพเพื่อสามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศอาเซียนและเวทีโลกได้


LastUpdate 20/11/2556 13:21:13 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 11:01 pm