นอกจากนี้นายทนุศักดิ์ ยังชี้แจงต่อว่า รัฐบาลจะสามารถบริหารโครงการรับจำนำข้าวให้อยู่ในกรอบ 500,000 ล้านบาท ตามมติครม.ได้อย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันโครงการรับจำนำข้าวใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 680,000 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเงินคืนธ.ก.ส.แล้วประมาณ 180,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาเพียงแค่นี้ จะเห็นว่า เมื่อหักเงินระบายแล้ว เงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวมีความใกล้เคียงกับกรอบวงเงินตามมติครม.แล้ว
นอกเหนือจากนี้ธ.ก.ส.ยังได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2557 เพิ่มเติมจากรัฐบาลอีกกว่า 82,000 ล้านบาท ซึ่งธ.ก.ส.ได้นำมาใช้ในโครงการรับจำนำรอบ 56/57 ประมาณ 55,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินระบายของกระทรวงพาณิชย์ที่จะส่งมาเพิ่มเติมในเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้อีกประมาณ 24,000 ล้านบาท จะทำให้ธ.ก.ส.มีเงินหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายให้ชาวนา ตลอดสิ้นปี 2556 ได้ โดยไม่เกินกรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติไว้
ส่วนในต้นปี 2557 สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ได้ยืนยันที่จะออกพันธบัตรให้กับธ.ก.ส.แล้ว ซึ่งเป็นแผนการหมุนเวียนเงินต่อเนื่อง ที่จะทำให้โครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 56/57 ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จึงขอเรียนให้ชาวนาสบายใจได้
ประเด็นสุดท้าย รัฐบาลยังได้เตรียมแหล่งเงินอื่นเพิ่มเติมให้กับธ.ก.ส.อีก ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยข้าวถุงราคาถูก ซึ่งครม.อนุมัติแล้ว อีก 7,100 ล้านบาทและเงินระบายข้าวที่จะมาเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลขายข้าวแบบ G to G ยิ่งจะทำให้การดำเนินโครงการในปี 56/57 ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน
ด้านนายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า การจัดงานครั้งที่ 3 นี้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ส่วนราชการและธนาคารมาพบปะและช่วยเหลือ SMEs –OTOP เพื่อให้คำปรึกษา พัฒนาวัตถุดิบเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนมั่นคง รวมถึงเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งในไทยมีอยู่ 2.9 ล้านผู้ประกอบการ เป็นธุรกิจที่หมุนเวียนอยู่ในไทยเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ค้าส่งค้าปลีก เป็นผู้ประกอบการรายย่อยระดับกลางประมาณ 90% รายใหญ่จะมีประมาณ 10 % ซึ่ง SMEs พิจารณาที่มีพนักงาน 50 คนมีไม่เกิน 20 ล้านและ 50คนขึ้นไป ไม่เกิน 200 ล้านบาท
ทั้งนี้เฉพาะในงานนี้ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินสำหรับไว้ปล่อยกู้แก่ SMEs ไว้ถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs สามารถมาลงชื่อแสดงความจำนงค์ได้ที่งาน ซึ่งธ.ก.ส.จะให้ไปใช้บริการในสาขาใกล้บ้าน สำหรับในปีนี้ปล่อยกู้แก่ SMEs ที่มีศักยภาพไปแล้วประมาณ 8,000 ล้านบาท ส่วนยอดการปล่อยกู้สะสมแก่ผู้ประกอบการโดยรวม ทั้งนิติบุคคล นิติบุคคล สหกรณ์และเกษตรกรที่มีผลผลิตเป็น SMEs-OTOP ทั้งสิ้น 200,000ราย มียอดเงินกู้สะสม 40,000 ล้านบาท แต่เฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อย่างเดียว 10,000 รายประมาณ 9,000 ล้านบาท
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบสย. เปิดเผยว่า ในขณะนี้บสย.มีความร่วมมือกับธนาคารออมสิน โดยค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ลูกค้า SMEs เป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท แต่ต่อไปจะเพิ่มขึ้นโดยค้ำประกันสินเชื่อ SMEs กับทุกธนาคารในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งเวลานี้กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะได้ใช้ราวกลางเดือนมกราคมปี 2557
ข่าวเด่น