ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยในการสัมนา "เจาะลึกวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2557 " ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจร่วมกับธปท.จัดขึ้น ถึงภาพรวมเศรษฐกิจของปี 2556 นี้ว่า ไม่มีพระเอกสนับสนุนเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่ที่ใกล้เคียงพระเอกได้แก่ ด้านการบริการและส่งออก โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 เริ่มมองเห็นการท่องเที่ยวจากจีนดีขึ้น แม้ไม่ได้เติบโตแบบ 90% แบบปีต่อปีเหมือนเดิม แต่ยังเป็นบวกกว่า 10% โดยส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากภาพยนตร์ เรื่อง Lost in Thailand
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2557 คาดหวังจะได้เห็นการเติบโตที่ 4% โดยนโยบายด้านการคลังหรือการใช้จ่ายของภาครัฐยังมีความสำคัญ ในด้านการส่งออกนั้นคาดว่าจะดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมดีขึ้น ประเทศอุตสาหกรรมหลักในกลุ่ม G3 ดีขึ้น แม้จะไม่โตเหมือนในอดีต แต่ก็มีผลสนับสนุนการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ดีดร.รุ่งกล่าวต่อว่า จากการพิจารณาที่ฐานเศรษฐกิจของปีนี้จะเห็นว่า การฟื้นตัวของการส่งออกเป็นไปอย่างช้ามาก สาเหตุเกิดจากการฟื้นตัวของกลุ่ม G3 อย่างสหรัฐเป็นการ ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำมาก มีการบริโภคไม่มาก เพราะมีการว่างงานถึง 7% ขณะเดียวกันมีการบริโภคบ้าง แต่ยังไม่มีการลงทุน มีการนำเข้ามากขึ้น แต่เมื่อดูรายละเอียดพบว่า มีการนำเข้าสมาร์ทโฟนมาก ซึ่งไม่ได้เป็นการผลิตสำคัญของไทย ประเทศที่ส่งออกด้านนี้จะได้ประโยชน์ไป ส่วนไทยส่งออกด้านคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ฮาร์ด ดิสก์ไดรฟ์ จึงไม่ได้อานิสงส์จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
“ดังนั้นจึงต้องยอมรับความจริงว่า จะหวังพึ่งเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวไม่ได้ เพราะไม่เหมือนเดิม นอกจากนี้หากผู้ผลิตผู้ส่งออกไม่มีการปรับตัว ไม่ปรับกระบวนการผลิตใหม่ เพื่อไม่ให้การส่งออกลดลง จะสู้เขาไม่ได้ โดยจะต้องผลิตสินค้าส่งออกที่ดีที่มีอำนาจในการต่อรองได้ เมื่อส่งออกดี ก็จะทำให้มีการลงทุนของภาคเอกชนค่อย ๆ ดีตามมาด้วย ส่วนการบริโภคของภาคเอกชนที่ปีนี้ถูกดึงลงด้วยการบริโภครถยนต์ไปแล้ว การบริโภคสินค้าคงทนคงจะไม่ค่อยบูมแล้ว แต่สินค้าตัวอื่นยังพอไปได้”
ด้านดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ที่ปรึกษานโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เห็นพ้องว่า ในปี 2557 ไม่มีพระเอกที่ชัดเจน โดยหวังพึ่งพาด้านการเกษตรจะฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะไม่ได้เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำ ต้องอาศัยหลายส่วนช่วยกัน
ในเวลาเดียวกันดร.ปัทมาชี้ว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่เศรษฐกิจพัฒนาก้าวหน้า มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีมาจากประชากรเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น ในขณะที่ไทยอยู่ในภาวะที่ต้นทุนแพงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไปได้และเป็นการสร้างเศรษฐกิจเติบโตจากฐานที่มั่นคง ผลิตสินค้าออกมาแล้วช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้
ฝ่ายดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ยังให้ความสำคัญกับภาคการส่งออกว่า ยังเป็นสิ่งสำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของ GDP และในอนาคตยิ่งจะต้องพึ่งพาการส่งออกมากกว่านี้
นอกจากนี้ดร.พิสิทธิ์ยังเห็นพ้องกับดร.ปัทมาเช่นกันว่า การส่งออกจะทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้ อนาคตจะต้องเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งโครงสร้างการส่งออกปัจจุบันน่าห่วง มีการพึ่งพารถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แม้ภาครถยนต์ ยังขยายตัวได้ดี แต่ถ้ามองในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า สินค้าเหล่านี้จะลดมูลค่าไปเรื่อย ๆ โดยยกตัวอย่างกรณี ชาวญี่ปุ่นและเยอรมันในปัจจุบันไม่นิยมซื้อรถยนต์ใช้กันแล้ว เพราะหันไปพึ่งพารถไฟใต้ดินและบริการรถเช่าทางอินเทอร์เน็ตแทน
“ในอนาคตโลกจะเปลี่ยนแปลงไป ต่อไปจะเป็นยุคคล้ายยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว ท้ายที่สุดสิ่งที่เรา ต้องพึ่งพาคือ ภาคบริการที่จะมาเป็นพระเอก ทั้งด้านการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่แก่
ประชาชน”
สำหรับสิ่งที่เป็นความเสี่ยงสำหรับปีหน้า 2557 นั้น ดร.รุ่ง แห่งธปท.กล่าวว่า สิ่งแรกได้แก่ ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะสั้นและยาว โดยกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชน การบริโภค การท่องเที่ยว การลงทุนและการเบิกจ่ายของภาครัฐ ทำให้ต้องมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น อียู และจีน อีกอย่างหนึ่งที่จะมีผลมากคือ การปรับเปลี่ยนมาตรการ QE ของสหรัฐ ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นและทำให้เงินทุนเคลื่อนย้าย ผันผวน ตลาดหุ้น
ความเสี่ยงอีกอย่างที่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้มาจากการที่ไทยอยู่ในแดนเสี่ยง เกาะกลุ่มประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ เช่นเดียวกับอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออก ถ้ามีคนพูดถึงจะทำให้มีเงินไหลออกมาก
ด้านดร.ปัทมาแห่งสศช.ยอมรับเช่นกันว่า มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หาได้ไม่พอจ่าย แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า ใน 2-3 ปีนี้ไทยจะไม่เจอวิกฤตขาดดุลมากจนทำให้ขาดความเชื่อมั่นเหมือนในอดีต เพราะในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้จะเป็นช่วงที่ไทยมีการตั้งหลักว่าจะปรับตัวเองในเรื่องกฎระเบียบ เรื่องการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพราะกฎหมายสำคัญต่าง ๆ มีกรอบยุทธศาสตร์ประเทศออกมาและเรื่องกู้ยืมมาใช้จะออกดอกออกผล
สำหรับปัจจัยภายนอก อย่างเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่นและจีนจะมีผลกระทบในด้านอารมณ์ความรู้สึก เช่นเดียวกับบรรยากาศการเมืองที่ไม่เป็นบวกและปัจจัยเสี่ยงอีกตัวมาจากการส่งออก
ส่วนดร.พิสิทธิ์จากสศค.มองว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมีหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ ขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยชี้ว่า 10 ปีนับจากนี้เป็นช่วงที่ไทยจะปรับโครงสร้างในการแข่งขันของตัวเอง ความเสี่ยงอื่น ๆ มาจากการเหลื่อมล้ำทางสังคม (ทาง รายได้และโอกาส) การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในเวลานี้ไทยมีโครงสร้างประชากรอายุ 40 ปีสูงกว่าเด็ก เหมือนในสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพและความเสี่ยงจากวิกฤตด้านพลังงานที่หากไทยไม่ทำอะไรเลย อนาคตจะทำให้แข่งขันไม่ได้
ข่าวเด่น