เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ภาษีบุคคลธรรมดาใหม่กระตุ้นกำลังซื้อไม่มาก


 

การปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกระทรวงการคลัง จากการจัดเก็บในอัตราสูงสุด 37% ลดเหลือ 35% และเพิ่มอัตราจาก 5 ขั้นเป็น 7 ขั้น ซึ่งกระทรวงการคลังเชื่อว่า จะช่วยลดภาระให้กับประชาชน ทำให้มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย อาทิ ผู้มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ที่ไม่ใช้สิทธิลดหย่อนอะไร ปกติจะเสียภาษีประมาณ 1.2 หมื่นบาท ก็จะเหลือ 5-6 พันบาทเท่านั้น ลดภาระลงถึง 50% ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมีจำนวน 1.4 ล้านคน 

และหากพิจารณาจากสัดส่วนภาระที่ลดลงตามขั้นอัตรา โดยผู้มีรายได้สูงสุด 4 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป ลดภาระภาษีลงได้ 5% ขณะที่ผู้มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน จะได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว มีจำนวน 6.5 ล้านคน นับว่าโครงสร้างภาษีดังกล่าวช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมากกว่าคนระดับกลางและคนรวย แม้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากเดิมประมาณ 27,000 ล้านบาท

                                                                                                 อัตราภาษีใหม่

                                                     เงินได้สุทธิตั้งแต่(บาท)          อัตราภาษี
  

                                                             0-300,000                        5
                                                         300,001-500,000               10
                                                         500,001-750,000               15
                                                         750,001-1,00,000              20
                                                         1,000,001-2,000,000         25
                                                         2,000,001-4,000,000         30
                                                         4,000,001 ขึ้นไป                  35

                                                   ที่มา: กระทรวงการคลัง

 

แต่ในมุมมองของนักธุรกิจและภาคเอกชน กลับมีความคิดที่แตกต่างกัน โดย นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า มาตรการทางด้านภาษีมีส่วนในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ไม่ถึงกับช่วยกระตุ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากฐานคนไทยที่จ่ายภาษีและอยู่ในระบบภาษีนั้นมีจำนวนน้อย อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องดีกับคนที่อยู่ในฐานภาษีและจ่ายภาษีน้อยลง เพราะจะช่วยให้มีเงินใช้จ่ายเข้ามาสู่ภาคเศรษฐกิจมากขึ้น

 

สอดคล้องกับ นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แสดงความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นในระบบขึ้นบ้าง แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากต้องยอมรับว่า การบริโภคในประเทศขณะนี้ชะลอตัวมากจากรายได้สุทธิเมื่อเทียบกับรายจ่ายน้อยลง โดยค่าครองชีพที่แพงขึ้นและอีกส่วนหนึ่งนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่มีการใช้สิทธิ์แล้วประมาณ 1 ล้านกว่าคันนั้น เฉลี่ย 90% ซื้อเงินผ่อน และการผ่อนก็พบว่า ช่วยกันผ่อนภายในครอบครัวก็กระทบให้การบริโภคของคนกลุ่มนี้ลดลงไปด้วย นอกจากนี้ ส่วนของภาคการผลิตเอง ภาคการส่งออกที่ชะลอตัวทำให้การใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยเพียง 63%จึงไม่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที)

 

และ นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณบวกต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ จะเห็นว่าบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ ทยอยประกาศโบนัสปลายปีในอัตราที่ "ลดลง" เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ แม้รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ลดภาระค่าใช้จ่ายภาษีของคนไทยลง 5-50% แต่ไม่เห็นผลเชิงบวกต่อธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากกลุ่มคนฐานรายได้ต่ำ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีสูงสุด 50% หรือราว 6,000 บาทนั้น เป็นตัวเลขที่ยังไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศโดยตรง  


LastUpdate 24/11/2556 01:24:41 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 11:02 pm