เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
TMB Analytics มองกนง. อาจงัดกระสุน ภายใต้ความเสี่ยงที่รุมเร้า


 

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองปัจจัยเศรษฐกิจสนับสนุนการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 27 พ.ย. นี้ จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดนความเสี่ยงรุมเร้า เงินเฟ้อพื้นฐานใกล้หลุดกรอบนโยบาย และการใช้จ่ายของรัฐที่ล่าช้าออกไป

 


กลับมาเป็นประเด็นให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องวิงเวียนกันอีกครั้งเมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปีนี้ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แผ่วตัวลงอีกจากระดับร้อยละ 2.9 ในไตรมาสสอง เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศหดตัว ทำให้สภาพัฒน์ฯ หั่นประมาณการทั้งปีให้ไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 ลดฮวบจากก่อนหน้าที่ให้ไว้ร้อยละ 3.8 - 4.3
 

ตัวเลขดังกล่าวทำให้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนต่างทยอยกันปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ จากเดิมที่เชื่อว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.5 มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 3 ทางด้าน TMB Analytics ก็ปรับประมาณการเศรษฐกิจของเราลงเล็กน้อยเช่นกัน จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 3.1 (ปรับครั้งก่อน ณ เดือนกันยายน) มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.9
 

อัตราการขยายตัวในระดับที่กล่าวข้างต้นนับว่าต่ำกว่าที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ไว้ที่ร้อยละ 3.7 ในรายงานนโยบายการเงินฉบับตุลาคม 2556 ค่อนข้างมาก ทำให้ TMB Analytics ประเมินว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ กนง. จะนำกระสุนที่เก็บมาตั้งแต่ช่วงกลางปีออกมาใช้เพื่อพยุงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่ และไตรมาสแรกของปีหน้า

 

 

 

หากพิจารณาแนวโน้มการขยายตัวของจีดีพีในช่วงนี้ จะพบว่าไตรมาสสี่น่าจะยังติดอยู่ “ใต้ท้องช้าง” เพราะไม่ว่าจะดูจากดัชนีการผลิต หรือดัชนีการบริโภคและการลงทุนของ ธปท. เอง ล้วนมีทิศทางไปทางด้านลบ หรือพูดง่ายๆ ว่าอาจจะซึมยาวไปจนถึงต้นปีหน้า กอปรกับนโยบายการคลังแบบขยายตัวที่หมดไป และการลงทุนขนานใหญ่ของภาครัฐที่ยังไม่ได้เริ่มออกตัว ทำให้เศรษฐกิจหมดแรงขับเคลื่อนจากนโยบายภาครัฐ

ในภาวะที่แรงกดดันด้านระดับราคาอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังมีความเป็นไปได้กว่า 1 ใน 3 ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะหลุดต่ำกว่ากรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อของ ธปท. ฉะนั้น เราจึงมองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเล็กน้อยในการประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ จึงถือเป็นการผสานนโยบาย (Policy co-ordination) ที่เหมาะสม เพื่อที่จะพยุงให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสนี้และไตรมาสหน้าไม่ทรุดลงไปกว่านี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการส่งผ่านของนโยบายการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจต้องใช้ระยะเวลา อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความผันผวนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในตัว

 

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงเพิ่มและยืดเยื้อขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกดดันเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะนอกจากจะกระทบความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนแล้ว ยังส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอีกด้วย และยังอาจลามไปถึงภาคการท่องเที่ยวซึ่งเสมือนเป็นความหวังสุดท้ายของการเติบโตในปีนี้ รวมทั้งการเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ก็จะถูกเลื่อนออกไปด้วย

แม้การลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพียงร้อยละ 0.25 อาจไม่สามารถส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศกลับมาดี อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ รวมทั้งทิศทางของค่าเงินบาทก็ไม่ได้อยู่ในขาแข็งที่จะกดดัน กนง. ให้ลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมน่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจได้ ไม่มากก็น้อย

และที่สำคัญกว่าคือการสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายร่วมกันของภาครัฐ เพราะเมื่อนโยบายการคลังประสบปัญหา ก็อาจถึงคราวของนโยบายการเงินต้องออกโรงบ้าง
 


LastUpdate 26/11/2556 14:03:49 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 10:38 pm