แม้ว่าปลายปีจะเป็นเทศกาล “ช๊อป” กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อลดหย่อนภาษี แต่หลายปีมานี้ บรรดาฟันด์เมนเนเจอร์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นักลงทุนเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากเดิมเน้นลงทุนเฉพาะปลายปีเพื่อต้องการประหยัดภาษีเท่านั้น ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเรื่องรองลงไป ก็หันมาให้ความสนใจกับเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น ซึ่งอาจเพราะว่าผลของการลงทุนในระยะยาวแบบกึ่งถูกบังคับด้วย
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พฤติกรรมปกติของนักลงทุนที่ยังเน้นลงทุนเพื่อหวังลดหย่อนภาษีเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น โดยเห็นได้จากแรงซื้อกองทุน LTF เข้ามาในช่วงดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลงแรงๆ และยังเป็นการสะท้อนว่าการลงทุนในระยะยาวสำหรับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ผลตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ เห็นได้จากช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ผลตอบแทนหรือรีเทิร์น จากการลงทุนให้ประมาณ 200-300% แล้ว
นายพีร์ ยงวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปี(2554-2556) นักลงทุนเริ่มหันมาให้ความสนใจการลงทุนผ่านกองทุน LTF และ RMFมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผล จากประสบการณ์ที่อยู่ในภาวะจำยอมจะต้องถือลงทุนในหุ้นให้ครบ 5 ปี หากลงทุนผ่านกองทุนประหยัดภาษี LTF ในปี 2551 แล้วเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้นักลงทุนอยากขายหุ้นออกมาแต่ไม่สามารถทำได้ สุดท้ายก็พอใจกับผลตอบแทนในระยะยาว เป็นต้น
นอกจากนี้ สำหรับกองทุน RMF ยังสะท้อนว่าสัดส่วนของเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในส่วนของหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ด้วย โดยเมื่อเทียบกับปี 2554 สัดส่วนเงินเข้ามาลงทุนใน RMF 25% ก็ปรับเป็น 35% ในปีนี้ช่วงไตรมาส 3/2556
เช่นเดียวกับ นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า ปีนี้จำนวนนักลงทุนรายใหม่ๆ ที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพิ่มขึ้น และบริษัทคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนผ่านกองทุน LTF ของบริษัทมากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนพอใจกับผลการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัทที่ติดอันดับต้นๆเมื่อมีการจัดอันดับ ซึ่งโดยเฉลี่ยรีเทิร์น กองทุนรวมหุ้นระยะยาวจะอยู่ที่ 10-14% ต่อปี แต่บางกองทุนผลการดำเนินโดดเด่นจะสามารถสร้างรีเทิร์นได้ถึง 18-20% ต่อปี เนื่องจากอาศัยหลักการลงทุนที่เน้นเข้าพบผู้บริหารของบริษัทที่สนใจลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประเมินมูลค่าของตัวหุ้นที่ลงทุนไปมากกว่าเน้นลงทุนที่อิงการขึ้นลงของดัชนี และราคาหุ้นที่เป็นรายวัน เป็นต้น
อนึ่ง ปัจจุบันกองทุน LTF ทั้งหมด 52 กองทุน และ RMF ทั้งหมด 119 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2556) ซึ่งมีอยู่หลากหลายนโยบายการลงทุน นักลงทุนควรเลือกตามความเหมาะสมและความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
แบ่งเป็น กองทุน LTF ซึ่งมี 3 ประเภทความเสี่ยงที่ให้เลือกลงทุนหลักๆ คือ 1.เน้นลงทุนในหุ้นแบบ 100% ซึ่งแบบนี้จะคล้ายกับกองทุนหุ้นทั่วไป มีความเสี่ยงสูง 2. ลงทุนแบบ 70/30 คือ 70% ลงทุนในหุ้น ส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ แบบนี้จะมีความเสี่ยงน้อยลงมาหน่อย 3. แบบที่ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ส่วนจะเลือกกองทุนใดนั้น นักลงทุนก็ควรดูการดำเนินงานหรือผลตอบแทนย้อนหลังให้ยาวออกไป 3ปี 5ปี เพื่อประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากต้องลงทุนกันยาว
ส่วนกองทุน RMF นั้นค่อนข้างซับซ้อนกว่า เนื่องจากมีหลากหลายประเภทนโยบายในการลงทุนที่กว้างมาก ทั้งการลงทุนในทองคำ และการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนรูปแบบกองทุน RMF มีทั้งแบบที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่ำที่สุด โดยมีให้เลือกทั้งแบบลงทุนในและต่างประเทศ 2. แบบที่มีการลงทุนแบบผสม คือ ผสมทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง 3. แบบที่เน้นลงทุนในหุ้น ซึ่งก็จะเหมือนกับลงทุนกองทุนแบบทั่วไป ซึ่งมีความเสี่ยงสูง และมีให้เลือกลงทุนทั้งแบบในและต่างประเทศ และแบบที่ 4. ลงทุนในทองคำ นับว่าเป็นแบบที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
สำหรับปลายปีนี้ความน่าสนใจการลงทุน ถูกพุ่งเป้าไปที่ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนตลาดหุ้นไทยที่ยังน่าสนใจ คือ หุ้นปันผล จึงมี บลจ.แห่ออกกองทุน LTF และ RMF มารองรับโอกาสการลงทุนด้วย
นำโดย นายธีรนาท รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า แนวทางการลงทุนปีหน้าคงเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ทำให้บริษัทออกกองทุนระยะยาวในหุ้น โดยผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในหุ้นสหรัฐฯ และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในช่วงเสนอขาย 12-27 พฤศจิกายน 2556
นอกจากนี้ ยังประเมินว่าเศรษฐกิจที่เติบโตในเอเชีย คือ จีนหลังจากเปิดประเทศมากขึ้นโดยผ่านนโยบาย 10 ประการ อาทิ การเปิดเสรีทางการเงิน การผ่อนคลายกฎระเบียบในการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น ก็น่าจะส่งดีต่อตลาดหุ้นจีนที่ซบเซามานาน ทั้งนี้หากประเมินจากพีอีของตลาดหุ้นต่างประเทศ อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐฯและญี่ปุ่น พีอี 13 เท่า และตลาดหุ้นจีน พีอี 8 เท่า เป็นต้น
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปี 2557 ความน่าสนใจอาจจะลดลง เนื่องจากอยู่ในภาวะผันผวนจนกลายเป็นตลาดซื้อๆขายๆ หรือเทรดดิ้งมาร์เก็ตมากกว่า ดังนั้นแนะนำสำหรับนักลงทุนที่ยังไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศก็ควรทยอยลงทุนในต่างประเทศ 10-20 % ของสัดส่วนลงทุนในหุ้น ซึ่งลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่ที่ลงทุนในหุ้นยังไม่ค่อยมีพอร์ตที่เป็นหุ้นต่างประเทศ จากพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม บลจ.ทิสโก้แนะนำแบ่งสัดส่วนลงทุนในหุ้น 40 % และตราสารหนี้ 60 % เป็นต้น
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยบริษัทประเมินว่า ปีหน้าตลาดหุ้นจีนมีโอกาสปรับขึ้นได้ 35% ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสปรับขึ้นได้ 14% ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีโอกาสปรับขึ้น 10% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสรับขึ้นไม่เกิน 10%
ขณะที่ นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต กล่าวว่า เช่นเดียวกันปีหน้ายังมีโอกาสลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ ยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึง จีน เป็นต้น ดังนั้นบริษัทยังมีแผนออกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลก แต่จะเน้นเพิ่มน้ำหนักในหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น มากเป็นพิเศษช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนโปรโมชั่น ลงทุน RMF-LTF หากลงทุนจนถึงวันที่ 27 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไปจะได้รับหน่วยลงทุนกองทุน T-CASH
ส่วน บลจ.กรุงไทย นายสมชัย บลจ.กรุงไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เตรียมออกกองทุนเปิดกรุงไทย ไฮ-ดิวิเดนด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (KT-HiDiv RMF) เสนอขายครั้งแรกวันที่ 18-27 พฤศจิกายนนี้ ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ส่วนสาเหตุเนื่องจากตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณท หรือคิวอีของสหรัฐ บวกกับปัจจัยการเมืองในประเทศ ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจึงควรเลือกลงทุนในหุ้นที่สามารถรับกับความผันผวนได้ดี ซึ่งสะท้อนออกมาในหุ้นที่สามารถจ่ายปันผลสม่ำเสมอเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี
และจากสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ยังรายงานข้อมูลในเชิงสถิติระยะ 10 ปี (2543-2553) พบว่า การลงทุนระยะยาวในหุ้นปันผลให้ผลตอบแทนรวมสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด รวมทั้งยังมีความผันผวนต่ำกว่าตลาด อีกทั้งในช่วงเศรษฐกิจขาลง หุ้นก็ยังมีผลตอบแทนจากเงินปันผลเพียงพอจะชดเชยผลขาดทุนจากส่วนต่างราคาด้วย ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.65 เท่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีหน้าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ และกลุ่มที่มีรายได้แน่นอน อาทิ กลุ่มที่มีรายได้จากการขาย น้ำ ไฟ รวมถึงทางด่วน เป็นต้น รวมถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังแบบใหม่ REIT ที่มีการจ่ายปันผลที่แน่นอนด้วย ดังนั้นแนวทางการลงทุนสำหรับปีหน้าไม่ควรหวังกำไรจากส่วนต่างราคา
ทั้งนี้ สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แบ่งเป็น กองทุน LTF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15 % ของเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท และระยะเวลาลงทุน คือ 5 ปีปฏิทินติดต่อกัน ส่วนกองทุน RMF สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ผู้ลงทุนมีอยู่จะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท โดยจะต้องลงทุนจนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และติดต่อการเกิน 5 ปี และสามารถลงทุนได้ปีเว้นปี
ข่าวเด่น