เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
แบงก์ลดดอกเบี้ยสะท้อนเศรษฐกิจทรุด


 

หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งการที่ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน

 

 

นำร่องโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์และเป็นการสนับสนุน รวมทั้งลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการและลูกค้าในการทำธุรกิจ  โดยธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) หรือ MLR ลง 0.25% เหลือ 6.75% ปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR เหลือ 8.0% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ลดลง 0.05-0.15% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา ลดลง 0.125% เหลือ 0.625% ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน

และตามมาด้วย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ ซึ่งการลดดอกเบี้ยของธนาคารทั้ง 2 แห่งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม เป็นต้นไป  การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร สอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงอย่างชัดเจน

 

 

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมายอมรับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ หรือ GDP ลงเหลือ 3% ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบทางการเมือง แต่เมื่อสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น เชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ GDP อาจขยายตัวได้ต่ำกว่า 3%

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง คงมีผลให้การประคับประคองแรงส่งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2556 ต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น จนกดดันให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปีนี้ อาจขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงมาเหลือ 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วจากคาดการณ์เดิมน่าจะขยายตัวได้ 11%

รวมทั้งประเมินว่าความต้องการเบิกใช้สินเชื่อภาคธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีอาจชะลอตัวลง ทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุน ตลอดจนสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน เพื่อรอดูความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยและเสถียรภาพของการเมือง

ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศ การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ตกอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง เมื่อผนวกกับประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศที่เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น เมื่อแรงส่งของสินเชื่อในช่วง2 เดือนที่เหลือจึงต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น

หลังจากนี้คงต้องติดตามผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ว่าจะกระตุ้นการขยายตัวของสินเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่มีท่าทีที่จบลงในเร็วๆนี้   

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ธ.ค. 2556 เวลา : 13:39:10
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 10:41 pm