รายงานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติแจง ไทยมีคะแนนความโปร่งใสเพียง 35 หรือไม่ถึงครึ่ง จัดอยู่ในอันดับ 102 จากอันดับ 88 ในการสำรวจทั้งหมด 177 ประเทศ ปปช.ชี้สะท้อนถึงภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐที่ย่ำแย่มาก ธปท.หนุนการเมืองพัฒนาความสามารถในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเรื่องคอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาลและการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศ
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยแพร่รายงานการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ประจำปี 2556 โดยมีการให้คะแนนจาก 0-100 ซึ่ง 0 หมายถึง คอร์รัปชั่นมากที่สุด และ 100 หมายถึง โปร่งใสที่สุด ขณะที่ปีนี้ไทยมีคะแนนความโปร่งใสเพียง 35 หรือไม่ถึงครึ่ง จัดอยู่ในอันดับ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศที่ถูกสำรวจ ลดลงจากปีที่แล้วที่ไทยได้คะแนนความโปร่งใส 37และอยู่ในอันดับ 88 ของโลก
ผลสำรวจระบุด้วยว่า ปีนี้มีประเทศมากถึงกว่า 2 ใน 3 จาก 177 ประเทศที่ได้คะแนนความโปร่งใสต่ำกว่า 50 คะแนน ขณะที่เดนมาร์กและนิวซีแลนด์มีความโปร่งใสมากที่สุดอยู่ในอันดับ 1 ร่วมกันโดยมีคะแนนเท่ากันคือ 91 คะแนน โดยทั้งสองประเทศได้คะแนนสูงมากในประเด็นเสรีภาพสื่อ กระบวนการเปิดเผยรายละเอียดงบประมาณ และกลไกการดำเนินการกับผู้กระทำผิด
ขณะที่อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ และซีเรียอยู่ในอันดับท้ายสุด 175 โดยมีคะแนนเท่ากัน 8 คะแนน
สำหรับภูมิภาคอาเซียน มี 3 ประเทศที่ได้คะแนนเกินครึ่ง ได้แก่ สิงคโปร์ 86 คะแนนอยู่อันดับ 5 บรูไน 60 คะแนน อยู่ในอันดับ 38 และมาเลเซีย 50 คะแนนอยู่ในอันดับ 53 ส่วนประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยยังมีคะแนนต่ำกว่าครึ่ง ขณะที่ลาวและพม่ามีคะแนนต่ำ แต่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วมาก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เคยระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น โดยรัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลในข้อที่ 8 โดยให้ภาครัฐรณรงค์สร้างการมีจิตสำนึกพร้อมกับตั้งศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามการทุจริตในงานราชการทุกส่วนราชการโดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและมอบหมายให้กฤษฎีกาไปพิจารณาดูว่าจะมีช่องทางใดที่จะให้เครือข่ายภาคเอกชนเข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งในปี2555 ไทยมีดัชนีชี้วัดความโปร่งใสดีขึ้นอยู่ที่ 3.7 จากเมื่อปี2554 อยู่ที่ 3.4
ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการจัดลำดับความโปร่งใสว่า แสดงถึงภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐที่ย่ำแย่มาก จำเป็นต้องเร่งช่วยกันกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศ ด้วยการทำงานที่ซื่อสัตย์สุจริต และช่วยกันกำจัดผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกองค์กรโดยด่วน อย่างไรก็ตามแม้ค่าคะแนนความโปร่งใสของประเทศจะลดลง แต่ยังมีโอกาสในการแก้ไขภาพลักษณ์ประเทศให้ดีขึ้นได้ เพราะปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ยังมีจิตสำนึกคุณธรรม ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
ส่วนนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายพิเศษในงานเสวนาหัวข้อ "มุมมองการบริหารงานกฎหมายภาครัฐ" ว่า การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการใช้และพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ ให้บรรลุประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงพัฒนาการด้านการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประเทศจะก้าวข้ามจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในปัจจุบันไปได้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในเรื่องคอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาลและการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
แม้ทุกภาคส่วนของประเทศจะเห็นผลร้ายของปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหานี้ให้บรรลุผลสำเร็จเป็นเรื่องที่ยากในทางปฎิบัติ และคงต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง เพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่นในอนาคตให้ลดลงให้ได้
ข่าวเด่น