ส.วินาศภัยเชียร์เปิดเสรีเบี้ยประกัน-คอมมิสชั่น ชี้บริษัทประกันยกระดับประสิทธิภาพงาน ลดต้นทุนจัดการสินไหม-บริหาร เสริมเขี้ยวเล็บพร้อมแข่งขันประกันเพื่อนบ้าน ย้ำเร่งพัฒนา Insurance Bureau ปิดจุดอ่อนด้านข้อมูลสถิติ
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจประกันภัยในอนาคตจะต้องเดินไปสู่การเปิดเสรีภาคการเงินซึ่งรวมถึงธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยที่จะต้องลดระดับข้อจำกัดด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ ลงไปนั้น ในเบื้องต้นเห็นว่าระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ธุรกิจประกันวินาศภัยควรต้องเริ่มปรับตัวก่อนด้วยการเปิดเสรีค่าเบี้ยประกันภัยและค่าคอมมิสชั่นก่อน เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจได้ปรับตัวและยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ
"ภาพใน 3-5 ปีข้างหน้า การกำหนดพิกัดเบี้ยประกันหรือ tariff ควรจะหายไปแล้ว เพราะระยะต่อไปเราต้องเปิดเสรี ฉะนั้น เงื่อนไขการคุ้มครองธุรกิจในประเทศก็ต้องค่อยๆ หมดไป ทั้งพิกัดค่าเบี้ยและค่าคอมมิสชั่น แต่ยอมรับว่าในเวลานี้คงยังไม่พร้อมทันที"
เขากล่าวอีกว่า ปัญหาใหญ่ของธุรกิจประกันภัยไทยที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีเบี้ยประกันและค่าคอมมิสชั่น ยังเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการจัดการสินไหมและการบริหารงาน ซึ่งยังเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและทำให้ต้นทุนการจัดการเหล่านี้ต่ำลงให้มาอยู่ในระดับที่แข่งขันกับคู่แข่งได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทจากต่างชาติที่จะได้เปรียบเรื่องเงินทุน วิธีการบริหารและเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้การจัดการมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน
ที่ผ่านมา สมาคมฯ พยายามเข้ามาเป็นตัวกลางในการพัฒนาระบบงานที่เป็นกองกลางขึ้นมาเพื่อดึงบริษัทสมาชิกให้เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่นกรณีการตั้งระบบอนุญาโตตุลาการขึ้นมาใช้กับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย ก็ช่วยลดต้นทุนด้านดำเนินการทางกฎหมายเหลือแค่เคสละประมาณ 1-2 พันบาท จากเดิมที่ต้องขึ้นศาลซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 6 พันบาท เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบค่าซ่อมมาตรฐานร่วมกัน เพื่อให้มีราคากลางในการคิดต้นทุนที่เหมาะสม
นอกจากนี้ กรณีการขาดแคลนแรงงานด้านสำรวจภัย คอลเซ็นเตอร์ การจัดการสินไหม ซึ่งสร้างคนได้ไม่ทันกับการขยายตัวของงานมากว่า 2 ปีแล้วนั้น หลายบริษัทก็นำระบบออนไลน์มาใช้มากขึ้นในการประสานงานกับอู่ซ่อม ใช้เทรนด์เรื่องสมาร์ทโฟนและการบริการตัวเองเข้ามาเสริม เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำเคลมบางรายการได้ด้วยตนเอง จึงประหยัดต้นทุนการจัดการสินไหม
รวมถึงปีนี้ที่เริ่มนำระบบ "ชนแล้วแยก แลกใบเคลม" เมื่อเกิดเหตุแล้วสามารถตกลงกันได้ ก็แลกใบแจ้งเคลมกันแล้วต่างคนต่างไปซ่อม ส่วนงานเบื้องหลังก็เป็นหน้าที่การเรียกสินไหมกันเองระหว่างบริษัทประกัน จึงประหยัดต้นทุนการส่งเจ้าหน้าที่สำรวจภัยออกไป ซึ่งแต่ละเคสจะมีต้นทุนส่วนนี้ประมาณ 500 บาท
ล่าสุด สมาคมฯ ยังอยู่ในระหว่างพัฒนาต่อยอดโครงการเคลมสินไหมผ่านระบบออนไลน์ (E-Claim) ซึ่งเป็นระบบกลางที่ใช้สำหรับเคลมกรณีอุบัติเหตุภายใต้ความคุ้มครองของประกัน พ.ร.บ. อยู่เดิม ก็จะขยายให้ครอบคลุมมารองรับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) และประกันสุขภาพเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้ผู้เอาประกันสามารถใช้สิทธิของประกันภัยที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเครือข่ายของ ประกัน พ.ร.บ. เดิมที่มีกว่า 1,700 แห่ง ครอบคลุมโรงพยาบาลกว่า 95% ในประเทศ
นายอานนท์กล่าวอีกว่า การดำเนินดังกล่าวต้องทำให้สอดคล้องไปกับแผนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่จะจัดตั้งหน่วยงานกลางสำหรับจัดเก็บข้อมูลด้านประกันภัย หรือ Insurance Bureau ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มเก็บข้อมูลได้ในต้นปี 2558 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นบทบาทที่ภาคธุรกิจประกันภัยจะต้องร่วมกันแชร์ข้อมูลเหล่านี้มาที่กองกลางอันจะเป็นประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลสถิติเพื่อไปใช้บริหารธุรกิจต่อไป
"สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเปิดเสรีค่าเบี้ยและค่าคอมมิสชั่นก็คือ ราคาเบี้ยประกันจะถูกดัมพ์กันลงไปทั้งระบบ เพราะไม่มีพิกัดขั้นสูงขั้นต่ำมาคลุมไว้แล้ว ทุกคนสามารถกำหนดราคาเบี้ยได้เต็มที่ แข่งขันกันได้เต็มที่ แต่ปัญหาที่ต้องระวังก็คือ ราคาเบี้ยต้องเพียงพอกับต้นทุนที่มีอยู่ ไม่ใช่ขายไปแล้วขาดทุน ฉะนั้น การทำเรื่องนี้จึงต้องเร่งสร้าง Insurance Bureau ขึ้นมารองรับก่อน เพื่อแก้ปัญหาด้านสถิติข้อมูลของไทยที่ยังมีไม่แข็งแรงมากพอ"
ข่าวเด่น