หลังจากบริษัท สหพัฒน์ ตกลงปลงใจจะดำเนินธุรกิจร้านสุขภาพและความงาม ปีที่ผ่านมาบริษัทสหพัฒน์ได้จับมือร่วมกับ บริษัท ซูรูฮะ โฮลดิ้ง อิงค์ ผู้ดำเนินธุรกิจร้านขายยาชื่อดังอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ "ซูรูฮะ" เพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจร้านซูเปอร์ดรักสโตร์ภายในภายใต้ชื่อ "ซูรูฮะ" ซึ่งจะเป็นร้านขายยาในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากจะมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายมากกว่าการจำหน่ายยา คือ จะมีสินค้าอุปโภคบริโภค และเครื่องสำอางจำหน่ายภายในร้านด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในปัจจุบัน
การดำเนินธุรกิจร้านซูเปอร์ดรักสโตร์ภายใต้ชื่อ "ซูรูฮะ" ในประเทศไทยเริ่มเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินธุรกิจของบริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้นที่ 100 ล้านบาท แบ่งเป็นบริษัท สหพัฒน์ ถือหุ้น 49% และบริษัทในเครือของซูรูฮะ โฮลดิ้ง อิ้งค์ ที่อยู่ในประเทศไทย 51% ซึ่งในส่วนของสาขาแรกที่เปิดให้บริการตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าดิจิตอลเกตเวย์ บนพื้นที่ 283 ตร.ม. โดยบริษัทได้ใช้งบลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท ในการเปิดให้บริการสาขาดังกล่าว เพื่อเป็นการทดลองผลการตอบรับของลูกค้า
ต่อมาในเดือน ก.ย. 2555 ร้านซูรูฮะ ได้เปิดสาขาที่ 2 ย่านถนนสุขุมวิท และต่อด้วยสาขาที่ 3 ในช่วงปลายปีที่โครงการเจแปนทาวน์ เฟสแรก ของ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งในส่วนของสาขาดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่กว่าสาขาแรก เพราะจะมีขนาดร้านประมาณ 800 ตร.ม. ใกล้เคียงกับสาขาต้นแบบที่ญี่ปุ่น ซึ่งภายในร้านจะมีจำนวนสินค้านำมาให้บริการมากถึง 30,000 รายการ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 30% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่สัดส่วนอีก 70% เป็นสินค้าในประเทศไทย และในจำนวนสินค้าในประเทศไทย 10% เป็นสินค้าในเครือสหพัฒน์
จากจุดเด่นของร้านซูรูฮะ ที่บริษัท สหพัฒน์ พยายามนำเสนอสื่อถึงความเป็นร้านเพื่อสุขภาพและความงามที่มาจากปะเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ได้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ หลังจากทดลองเปิดร้านแรกเมื่อกลางปี 2555 จนถึงขณะนี้บริษัท สหพัฒน์ มีร้านซูรูฮะเปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 13 สาขา ซึ่งทุกสาขาเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายแหล่งชุมชนและย่านธุรกิจสำคัญ
น.ส.เบญจมาศ ต้องประสิทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือสหพัฒน์ ผู้ดำเนินธุรกิจร้านซูรูฮะ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านซูรูฮะ มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 13 สาขา ประกอบด้วย เกตเวย์เอกมัย, ดิจิตอลเกตเวย์สยามสแควร์, ซีคอนสแควร์ศรีนครินทร์, ซีคอนบางแค, ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, อาคารมิดทาวน์อโศก, อาคารจัสมินซิตี้, พิคคาเดลีแบงคอกสุขุมวิท 77, อาคารสาธรซิตี้ และสาขาในต่างจังหวัดที่ศูนย์การค้าเจพาร์คศรีราชา, นิคมสหพัฒน์ศรีราชา, พรอเมนาดเชียงใหม่ และแหลมทองระยองพลาซ่า
ในด้านของการลงทุนแต่ละสาขาจะใช้งบไม่เท่ากัน เนื่องจากแต่ละสาขามีขนาดพื้นที่แตกต่างกัน คือเริ่มตั้งแต่ขนาด 100-1,000 ตร.ม. จึงทำให้งบในการลงทุนจะมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อสาขา ปัจจุบันร้านซูรูฮะ ตั้งอยู่ในธุรกิจหลายโมเดล เนื่องจากต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และจากการเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันร้านซูรูฮะมีสัดส่วนการเปิดให้บริการในโมเดลอยู่ที่ประมาณ 20% ในชอปปิ้งมอลล์ 30% และอีก 30% เป็นทำเลอื่นๆที่มีศักยภาพ เช่น ชุมชน และอาคารพาณิชย์ เป็นต้น
สำหรับแผนการขยายธุรกิจในปีหน้า บริษัท ซูรูฮะ มีแผนที่จะเดินหน้าเปิดสาขาใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 20 สาขา โดยตั้งเป้าหมายระยะกลางจะมีสาขารวม 100 แห่งในประเทศไทย ภายใน 5 ปีนับจากเริ่มดำเนินธุรกิจในปีแรกเมื่อปี 2555 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับร้านซูรูฮะ ในประเทศไทยก่อนที่จะก้าวไปสู่ตลาดระดับอาเซียน ซึ่งหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ภูมิภาคนี้จะมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปขยายธุรกิจในภูมิภาคดังกล่าว
น.ส.เบญจมาศ กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมหลังจากที่ได้เริ่มนำร้านซูรูฮะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันบริษัทก็มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน โดยขณะนี้ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนไปแล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมา จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท
กลุ่มเออีซี ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชาจำนวนมาก ซึ่งจากความสนใจที่จะเข้าไปการขยายร้านซูรูฮะในตลาดอาเซียน ถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ผลักดันให้นโยบายรวมของบริษัทแม่ซูรูฮะที่ญี่ปุ่นเป็นจริงเร็วขึ้น เนื่องจากได้มีการวางเป้าหมายจะมีสาขาร้านซูรูฮะทั่วโลกที่ประมาณ 20,000 สาขาในอนาคตอันใกล้นี้ จากปัจจุบันมีสาขารวมกันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1,110 สาขา ขณะที่ร้านซูรูฮะในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 1,000 สาขา
สำหรับรูปแบบของการเข้าไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้ทางกลุ่มซูรูฮะอยู่ระหว่างการศึกษาตลาด ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ไทยเป็นฐานการทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยในส่วนของประเทศที่ให้ความสนใจขณะนี้ คือ เวียดนาม กัมพูชา และพม่า ในด้านของกลยุทธ์จะใช้จุดแข็งของสหพัฒน์ในการทำตลาดและการลงทุน เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีประชากรคนรุ่นใหม่มากขึ้นสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ
หลังจากนั้นจะดำเนินการขยายร้านซูรูฮะเข้าสู่อินโดนีเซียและมาเลเซียต่อไป เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดที่มีศักยภาพทางการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก เพราะมีจำนวนประชากรภายในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประชากรมากกว่า 300 ล้านคน หากสามารถเข้าไปขยายธุรกิจได้จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก
ด้วยจุดแข็งของร้านซูรูฮะ ที่ไม่ได้เป็นแค่ร้านขายยา แต่เป็นซูเปอร์ดรักสโตร์แบบวันสตอปชอปปิ้ง มีสินค้ามากกว่า 10,000 รายการ ทั้งสินค้าสุขภาพ ความงาม ยา แบ่งสัดส่วนเป็น หมวดอาหารเสริมและยา 30% กลุ่มเครื่องสำอาง 30% อีก 40% เป็นสินค้าเบ็ดเตล็ด แยกเป็นสินค้านำเข้า 30% และสินค้าภายในประเทศ อีกทั้งยังมีบริการอื่นๆ เช่น มุมตรวจสุขภาพเบื้องต้น มุมตรวจสภาพผิวหนัง การให้คำปรึกษาด้านความงาม และเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่อายุ 20-40 ปี จึงทำให้มั่นใจว่าการขยายธุรกิจร้านซูรูฮะทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ น่าจะเป็นสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ก่อนที่บริษัทซูรูฮะจะนำทัพไปบุกตลาดอาเซียน ก่อนหน้านี้ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ได้เริ่มเข้าไปเปิดทางเพื่อนำบริษัทในเครือเข้าไปขยายธุรกิจบ้างแล้ว หนึ่งในนั้น คือ แผนการเข้าไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมในประเทศพม่าและเวียดนาม แต่เนื่องจากขณะนี้ยังมีเรื่องติดขัดในด้านข้อกฎหมายที่ต้องทำความเข้าใจ จึงทำให้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล
ปัจจัยที่ทำให้เครือสหพัฒน์ ให้ความสนใจเข้าไปลุยตลาดอาเซียน นายบุณยสิทธิ์ เคยกล่าวไว้ว่า อาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จึงสนใจเข้าไปลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เช่น ที่พม่าเพิ่งเปิดประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติมาก แต่เมื่อมีคนสนใจเป็นจำนวนมากเพราะเป็นประเทศเปิดใหม่ ส่งผลให้ราคาที่ดินแพงขึ้นหลายเท่าตัว ขณะเดียวกันระบบอินฟราสตรักเจอร์ก็ไม่พร้อม
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกลุ่มสหพัฒน์ได้มีการแต่งตั้ง นางจันทรา บูรณฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก และอธิบดีกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เข้ามาวางแนวทางและขยายตลาดต่างประเทศให้แก่เครือสหพัฒน์โดยเฉพาะตลาดอาเซียนเป็นหลัก รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558
แม้ว่าขณะนี้ธุรกิจในเครือของสหพัฒน์ จะยังไม่เดินเครื่องบุกตลาดอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ แต่จากการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าไปขยายธุรกิจเช่นเดียวกับร้านซูรูฮะ น่าจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ซึ่งในส่วนของเป้าหมายรายได้ร้านซูรูฮะ ปี 2556 ซึ่งจะจบในเดือนมี.ค. 2557 นี้ คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท
ขณะที่ เป้าหมายปี 2557 บริษัท ซูรูฮะ คาดว่าจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท และส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 5% จากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 2% จากมูลค่าตลาดรวมธุรกิจค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 20 สาขา และเตรียมใช้งบอีกประมาณ 5-10% เพื่อทำกิจกรรมการตลาดในปีหน้า ซึ่งคาดว่าภาพรวมการแข่งขันในตลาดเพื่อสุขภาพและความงามในปีหน้าจะยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ประกอบการในตลาดมีมากขึ้น เช่น วัตสัน ,บู๊ทส์ เอ็กซต้า และ โอเกงกิ ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์
จากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มมากขึ้น กลยุทธ์หลักที่นำมาใช้ คงจะหนีไม่พ้นการทำโปรโมชั่น และเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด แต่กลยุทธ์ของใครจะได้ผล โปรโมชั่นของใครจะโดนใจ ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งทามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเมืองครุกรุ่นเป็นระยะๆ คาดว่าแต่ละผู้ประกอบการในธุรกิจร้านเพื่อสุขภาพและความงาม คงจะมีบริการอะไรใหม่ๆ เข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างแน่อน
ข่าวเด่น