สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจ SMEs ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลต่อการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน (AEC)พบเกือบ 80% มองให้โอกาสด้านแรงงาน หาแรงงานมีฝีมือหาง่ายขึ้น กว่า 45% ที่คิดว่ามีความพร้อมรับมือ
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจ SMEs ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลต่อการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน งานวิจัยนี้ได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-9 ธันวาคม 2556 จำนวน 438 ราย ส่วนใหญ่ประกอบกิจการผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค และกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
ประเทศไทย ข้อมูลทางสถิติบ่งชี้ว่ามีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เปิดดำเนินการอยู่ถึงร้อยละ 99.8% หรือคิดเป็นประมาณ 2.7 ล้านรายของจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหมด และมีจำนวนแรงงานอยู่ถึง 83% ของจำนวนแรงงานทั้งระบบในประเทศ ดังนั้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นอกจากจะเป็นแหล่งที่สร้างงานสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นแหล่งที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจได้อย่างสำคัญ
และเนื่องจากในปี พ.ศ. 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศรวมถึงประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากทั้งในทางบวกคือจะมีโอกาสขยายกิจการ ขยายกลุ่มผู้ซื้อ และเพิ่มรายได้ แต่ขณะเดียวกันในทางลบนั้นอาจจะประสบปัญหามีคู่แข่งขันเพิ่มขึ้น ถูกแย่งผู้ซื้อ และอาจทำให้รายได้ลดลง ด้วยเหตุดังกล่าวการเตรียมตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาและความต้องการต่างๆ เพื่อทำให้ธุรกิจของตนมีความพร้อมอย่างเพียงพอในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงถือโอกาสสำรวจความคิดเห็นต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของหน่วยงานในการเอื้อประโยชน์ อำนวยความสะดวก และสนับสนุนกิจการ SMEs ไทย ที่มีอยู่ถึงร้อยละ 99
ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ด้านข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของกลุ่มตัวอย่างนั้น ธุรกิจของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จัดอยู่ในประเภทการค้าส่ง/ค้าปลีก-นำเข้า/ส่งออก คิดเป็นร้อยละ 37.67 ขณะที่ธุรกิจของกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.11 จัดอยู่ในประเภทการผลิต เช่น สินค้าอุปโภค/บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้า อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ธุรกิจของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประมาณเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.19 มีลูกจ้าง/พนักงานประมาณ 51 ถึง 100 คน และธุรกิจของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เปิดดำเนินการมาแล้ว 6 ถึง 10 ปี คิดเป็นร้อยละ 35.16
สำหรับแหล่งข้อมูลที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ AEC สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สื่อหนังสือพิมพ์ คิดเป็นร้อยละ 86.76 สื่ออินเทอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 83.33 และสื่อโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 78.31 อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 52.97 ระบุว่า ตนเองได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ AEC ที่มีผลกับการประกอบธุรกิจของตนไม่เพียงพอ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.03 ระบุว่าได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงพอแล้ว และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.43 ซึ่งยังมีจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความคิดเห็นว่าธุรกิจของตนมีความพร้อมในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC แล้ว และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.73 มีความคิดเห็นว่าธุรกิจของตนยังไม่มีความพร้อม ส่วนความสนใจในการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม AEC นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความสนใจในการขยายธุรกิจของตนไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม AEC ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.22
ส่วนสิ่งที่ต้องพัฒนามากที่สุดเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.85 มีความคิดเห็นว่าธุรกิจของตนต้องมีการพัฒนาด้านทักษะฝีมือและความชำนาญของแรงงานมากที่สุด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.41 และร้อยละ 15.53 มีความคิดเห็นว่าธุรกิจของตนต้องมีการพัฒนาด้านการบริหารงานมากที่สุด และการพัฒนาความสามารถในด้านภาษาของตน/ลูกจ้างมากที่สุด ตามลำดับ นอกจากนี้ การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.79 มีความต้องการการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือความต้องการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น คิดเป็นร้อยละ 23.06 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.72 มีความต้องการได้แรงงานที่มีฝีมือ ทักษะ ความชำนาญสูง
สำหรับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อผลดีเมื่อเข้าสู่ AEC ที่สำคัญสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ มีโอกาสหาแรงงานเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น คิดเป็นร้อยละ 79.22 มีโอกาสได้แรงงานที่มีคุณภาพในด้านฝีมือ/ความชำนาญ คิดเป็นร้อยละ 77.17 มีโอกาสเพิ่มคุณภาพสินค้าหรือบริการของธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 73.74 มีโอกาสเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น คิดเป็นร้อยละ 66.44 และมีโอกาสขายสินค้า/บริการได้ในปริมาณที่มากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 61.64 ส่วนผลเสียเมื่อเข้าสู่ AEC ที่สำคัญ 5 ประการได้แก่ ต้องเผชิญการแข่งขันสูง คิดเป็นร้อยละ 80.59 มีโอกาสถูกแย่งแรงงานที่มีคุณภาพในด้านฝีมือ/ความชำนาญ คิดเป็นร้อยละ 76.71 รายได้จากการประกอบธุรกิจลดลง คิดเป็นร้อยละ 72.83 มีโอกาสถูกคู่แข่งแย่งลูกค้า คิดเป็นร้อยละ 69.41 และมีโอกาสขายสินค้า/บริการได้ในปริมาณที่ลดลง คิดเป็นร้อยละ 66.21 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.99 ระบุว่าจะไม่ส่งผลเสียในด้านใดเลย
ข่าวเด่น