เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี'57 ..ขยายตัว 3.3-6.3 % มี CLMV -ฟุตบอลโลก 57 หนุน


 

 

 

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี’57 ..คาดขยายตัวร้อยละ 3.3-6.3 แรงหนุนหลัก CLMV และฟุตบอลโลก 57

 

 
 


ในปี 2556 นี้ภาพรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในช่วง 10 เดือนแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.72 หรือมีมูลค่า 19,329 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแกนหลัก โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ หดตัวถึงร้อยละ 11.3 สำหรับสินค้าหลักที่หดตัวสูงคือ เครื่องรับโทรทัศน์ หดตัวถึงร้อยละ 12.3
 อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ยังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนที่ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 15.6 หรือมีมูลค่า 3,872 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม (CLMV) รวมกันขยายตัวถึงร้อยละ 27.6 หรือมีมูลค่า 1,210 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสินค้าหลักที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยขยายตัวร้อยละ 11.5, 5.5 และ 4.3 ตามลำดับ
   
การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 4 ของปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจจะปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3 จากปัจจัยฤดูกาลที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะชะลอการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 4 ประกอบกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว

 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2556 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 22,880 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่เติบโตร้อยละ 2.6
   
ปี 2557 ตลาด CLMV -ฟุตบอลโลก 57 เป็นแรงหนุนสำคัญ
   
สำหรับแนวโน้มการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV น่าจะเป็นตลาดการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพในการเติบโตที่สูงของไทย จากปัจจัยสนับสนุนหลักต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.การขยายตัวด้านส่งออกที่สูงของตลาด CLMV
  
จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการขนส่งสินค้า อีกทั้ง CLMV มีระยะทางการขนส่งสินค้าที่ใกล้กับไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน ทำให้ไทยมีความได้เปรียบด้านต้นทุนในการขนส่ง เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
 


ทั้งนี้พบว่า ตลาด CLMV มีการเติบโตเป็นบวกมาโดยตลอด และมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่าตลาดอาเซียนโดยรวมเกือบสองเท่าตัว นอกจากนี้เศรษฐกิจของ CLMV อยู่ในช่วงขยายตัว นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนอย่างมากมาย ส่งผลให้ประชาชนในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีรายได้และกำลังซื้อสูงขึ้น

ตลอดจนการขยายตัวของจำนวนห้องพัก โรงแรม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและที่พักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศกลุ่มนี้มากขึ้นนั้น ก็เป็นปัจจัยหนุนความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน อีกทั้ง CLMV เป็นประเทศเขตร้อน ทำให้การขยายตัวการส่งออกของเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รวมถึงตู้เย็น มีความต้องการที่ขยายตัวสูงในกลุ่มประเทศนี้ โดยในช่วง 10 เดือนแรกขยายตัวถึงร้อยละ 55.3 และ 30.7 ตามลำดับ นอกจากนี้เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ขยายตัวถึงร้อยละ 32.3 จากปัจจัยต่างๆข้างต้นทำให้ตลาด CLMV น่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงและเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย

2. เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
    
ด้านตลาดการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังประเทศคู่ค้าหลักอื่นๆ คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและยุโรปที่คาดว่าจะมีทิศทางดีขึ้น รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูจากความเสียหายของภัยพิบัติธรรมชาติในช่วงปลายปี 2556 ผ่านมา ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นเพื่อทดแทนความเสียหาย อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

3.มหกรรมฟุตบอลโลกปี 2557 หนุนโทรทัศน์-ส่วนประกอบ
    
สำหรับในปี 2557 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเป็นดาวเด่นในการส่งออกคือ เครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับสองรองจากเครื่องปรับอากาศ จากปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ มหกรรมฟุตบอลโลกปี 2557 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 12 มิถุนาคม ถึง 13 กรกฎาคม 2557
การจัดมหกรรมกีฬาดังกล่าว คาดว่าจะมีผลโดยตรงต่อการขยายตัวของยอดขายโทรทัศน์ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์และส่วนประกอบของไทยด้วย ซึ่งเห็นได้จาก ในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลกที่ผ่านมาปี 2549 และ 2553 มูลค่าการส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์และส่วนประกอบของไทย มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.8 และ 13.4 ตามลำดับ
 
 
นอกจากนี้มหกรรมฟุตบอลโลกยังมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกทางอ้อม เช่น การจ้างงาน รายได้จากการถ่ายทอดสด รายได้จากการโฆษณาตามสื่อต่างๆ ธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น ทำให้เกิดเม็ดเงินไหลเวียนทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้กลับมาฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับปัจจัยอื่นๆที่น่าจะกระตุ้นยอดส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์และส่วนประกอบ เช่น เทคโนโลยีด้านความคมชัดระดับ 4K หรือ Ultra High Definition (UHD) และเทคโนโลยีโทรทัศน์แบบจอโค้งหรือ Organic Light Emitting Diode (OLED) ทำให้จอภาพบางลง สามารถดัดให้โค้งงอได้ ทำให้การรับชมโทรทัศน์มีมิติสมจริงมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์และส่วนประกอบในปี 2557 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 3,100-3,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 10.3-13.9 (YoY)
    
จากปัจจัยและแนวโน้มดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2557 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 23,630-24,320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 3.3-6.3 (YoY)

ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะปานกลาง
   
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของสินค้า ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำต่างพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และสะดวกกับการใช้งาน เช่น เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับผู้บริโภค ซึ่งสินค้าใหม่ๆ เหล่านี้ ต่างมีเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน และอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกมีการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่มีความพร้อม เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่ในทุกระดับของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูง
ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เกิดในประเทศ เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย ตลอดจนผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆของตัวเองในอนาคต โดยเทคโนโลยีที่น่าสนใจและมีแนวโน้วเติบโตในอนาคต ได้แก่ หลอดไฟแบบ LED จอแสดงผลแบบแบน กล้องถ่ายรูปดิจิตอล การเชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้ากับสมาร์ทโฟน เป็นต้น

ความท้าทายในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าไทยมีจุดแข็งด้านห่วงโซ่อุปทานของเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสถานะของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้ เริ่มเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่เคยเอื้อต่อการลงทุนก็เริ่มลดน้อยลงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าบางประเทศ (อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม) ค่าใช้จ่ายในการบริหารความเสี่ยง ค่าประกันภัย เพื่อรองรับกรณีเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามคือ นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะแล้วเสร็จภายในธันวาคมปี 2556 และคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2558 ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ การปรับเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์จากการแบ่งโซนมาเป็นประเภทผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริม ซึ่งอาจกระทบความน่าสนใจในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระยะข้างหน้า ขณะที่หากมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เรื่องการจ้างแรงงานต่างด้าว ก็อาจช่วยบรรเทาภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มจะยิ่งรุนแรงขึ้นได้




LastUpdate 14/12/2556 11:20:21 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 11:24 pm