หุ้น TRUE กับราคาที่ปรับขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2556 จากราคาประมาณ 5-5.45 บาทต่อหุ้น วิ่งไปสูงสุดที่ระดับ 11.0 บาท ต่อหุ้น หรือปรับขึ้นไป 1-1.2 เท่า โดยที่ราคา ณ วันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา ปิดที่ 8.25 บาทต่อหุ้น จากสตอรี่การก่อตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 6-8 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อผลกระทบจากปัจจัยการเมือง จึงมีกระแสข่าวว่า กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทรูโกรท จะขายไม่หมด จน TRUE จะต้องเพิ่มสัดส่วนการถือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 33.3 % เช่นนี้แล้ว เงินสดที่คาดว่าจะนำไปชำระหนี้ก็จะลดลงไปอีก ฉะนั้นหนี้ก็ยังไม่หมด แล้วราคาหุ้น TRUE ยังสะท้อนอย่างไร
ต่อกรณีที่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ได้ขยายเวลาเสนอขายหน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทรูโกรท(TRUEGIF) ไปจนถึงเวลา 12.00 น.ของวันที่ 19 ธันวาคม 2556 จากเดิมสิ้นสุด 12.00 น. ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ โดยมีจำนวนหน่วยลงทุนทั้งสิ้น 5,808 ล้านหน่วย มูลค่าหน่วยละ 10 บาท รวมเป็นมูลค่าการเสนอขาย 58,080 ล้านบาท
แบ่งเป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยทั่วไปเบื้องต้นประมาณ 2,381.28 ล้านหน่วย สัดส่วน 41% และอีก 2,381.28 ล้านหน่วย เสนอขายแก้ผู้จองซื้อพิเศษ สัดส่วน 41 % ส่วนที่เหลือ ทรู หรือกลุ่มบุคคลเดียวกับทรู ถือ 1,045.44 ล้านหน่วย คิดเป็น 18 % นั้น เริ่มมีประเด็นต่อสัดส่วนการเสนอขาย กรณีขายไม่หมด
จากบทวิจัย ของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคเคเทรด จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า หากกรณี TRUE จะต้องเพิ่มสัดส่วนการถือ ซึ่งกรณีเต็มที่ถือ 33.3 % ทำให้มีผลกระทบต่อเงินที่ TRUE คาดว่าจะได้รับก็ถูกปรับลง จาก 4.76 หมื่นล้านบาท กรณี TRUE ถือ กองทุน TRUEGIF สัดส่วน 18 % ก็มีโอกาสปรับลงดลงถึง 8.7 พันล้านบาท เหลือ 3.87 หมื่นล้านบาท หรือทุกๆ 2 % ของสัดส่วนที่ถือในกองทุน TRUEGIF เงินที่ TRUE ได้รับจะลดลง 1.16 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การบันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์หลังหักภาษี 2.6 หมื่นล้านบาท (กรณีที่ดีที่สุด) ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้น ที่เหลือ 5.6 พันล้านบาท จากผลกระทบที่มีการขาดทุนสะสม ก็จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 หมื่นล้านบาท แต่หากไม่นับรวมเสา 6,000 ต้น จะบันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์หลังหักภาษีเพียง 1.9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท เท่านั้น
นอกจากนี้ สำหรับเงินระดมทุนโดยผ่านการเสนอขายกองทุน TRUEGIF กรณีที่ดีที่สุด บล.กรุงศรีฯประเมินไว้ว่าTRUE จะได้รับเงินสดจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน TRUEGIF และขายบริษัทย่อยที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก จำนวน 8 แห่ง รวมแล้วมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท โดยหากอิงจากสมมติฐานที่ 70 % ของเงินสดที่ได้จากการขายสินทรัพย์เพื่อนำไปลดหนี้ที่มีอยู่ปัจจุบัน 1 แสนล้านบาท จะเหลือ 7 หมื่นล้านบาท และส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ DE จะลดลงจากเดิมที่ 19 เท่า เหลือ 2.4 เท่า และลดภาระจ่ายดอกเบี้ยลงอีกราว 2.7 พันล้านบาทต่อปี
สอดคล้องกับ นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่นได้กล่าวไว้ว่า สำหรับการขายทรัพย์สินให้แก่ TRUEGIF บริษัทมีแผนนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ฐานะการเงินของ TRUE แข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญ โดยหนี้สินสุทธิลดเหลือ 4.92 หมื่นล้านบาทจาก ณ กันยายน ที่ผ่านมา บริษัทมีหนี้ 1.05 แสนล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุน TRUEGIF บางส่วนจากการระดมทุนไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนด้วย
บล.กรุงศรีฯ ยังอธิบายเพิ่มอีกว่า คาดว่า TRUE จะตัดค่าเสื่อมลดลงปีละ 3 พันล้านบาท แทนที่ด้วยต้นทุนค่าเช่าและการเสียส่วนแบ่งรายได้จาการเช่าเสาโทรคมนาคมราว 5 พันล้านบาทจากการเช่ากลับ โดยในปี 2556 คาดว่าบริษัทจะบันทึกรายการพิเศษหลังภาษีราว 2.6 หมื่นล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม ด้านผลการดำเนินงานปกติ คาดว่า TRUE จะมีผลขาดทุนจากการดําเนินงานที่ 8.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 6.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการลงทุนโครงข่าย 3G และค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ TRUEVISION ที่เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากผู้ประกอบการรายใหม่
ในขณะที่ปี 2557 คาดว่า TRUE จะมีผลขาดทุนจากการดําเนินงานลดลงเหลือ 2.6 พันล้านบาท ซึ่งรับประโยชน์จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีต้นทุนสัมปทานที่ลดลง หลังโอนย้ายลูกค้าไปใต้ใบอนุญาตใหม่ และผลประโยชน์สุทธิจากการต้นทุนที่ลดลงราว 867 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บล.กรุงศรีฯ คาดว่า TRUE จะมีการบันทึกรายการพิเศษราว 4.5 พันล้านบาทจากการตัดจําหน่ายโครงข่าย 2G ที่จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2557 ส่งผลให้ TRUE มีผลขาดทุนสุทธิราว 7 พันล้านบาท
สำหรับโครงสร้างรายได้งวด 9 เดือน ปีนี้แบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการ 4.98 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 71.69 % รายได้จากการขาย 1.12 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 16.18 % รายได้จากค่าเช่าโครงข่าย 4.61 พันล้านบาท สัดส่วน 6.65% และรายได้จากค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) 3.81 พันล้านบาท สัดส่วน 5.49 % ของรายได้รวม ที่ 6.94 หมื่นล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 8.53 พันล้านบาท
บทสรุปของบรรดานักวิเคราะห์ บล.เคเคเทรด ประเมินมูลค่าที่เหมาะสม 7.8 บาทต่อหุ้น หาก TRUE ถือกองทุน TRUEGIF สัดส่วน 18 % และเหลือ 7.2 บาทต่อหุ้น หากถือในกองทุน TRUEGIF สัดส่วน 33.3 % ส่วน บล.กรุงศรีฯ ประเมินมูลค่าหุ้นพื้นฐานปี 2557 อยู่ที่ 8.20 บาทต่อหุ้นเท่านั้น
ข่าวเด่น