การพัฒนาระบบดิจิตอลในคลื่นโทรทัศน์และคลื่นวิทยุของไทย เริ่มมีความคืบหน้าและมีความหวังที่จะได้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่ง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กสท.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติทั้ง 24 ช่อง ในวันที่ 26-27 ธ.ค. 2556 ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00น. เป็นวันประมูลคลื่นความถี่ ที่บริษัท กสท โทรคมนาคม เขตบางรัก
โดยแบ่งการประมูลออกเป็น 2 วัน คือ วันที่ 26 ธ.ค.2556 ช่วงเช้า ตั้งแต่ 08.00-14.00 น.เป็นการประมูลประเภทช่องทั่วไป (วาไรตี้) ความคมชัดสูง (HD) จำนวน 7 ช่อง ราคาเริ่มต้น 1,510 ล้านบาท เคาะประมูลครั้งละ 10 ล้านบาท และช่วงบ่ายตั้งแต่ 14.00-20.00น.เป็นการประมูลประเภทช่องทั่วไป (วาไรตี้) ความคมชัดมาตรฐาน (SD) 7 ช่อง ราคาเริ่มต้น 380 ล้านบาท เคาะประมูลครั้งละ 5 ล้านบาท
และในวันที่ 27 ธ.ค.2556 ช่วงเช้า 08.00-14.00 น. เป็นการประมูลประเภทช่องข่าวสารสาระ 7 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูล 220 ล้านบาท เคาะประมูลครั้งละ 2 ล้านบาท และช่วงบ่ายตั้งแต่ 14.00-20.00 น. เป็นการประมูลประเภทช่องเด็กและครอบครัว 3 ช่อง ราคาเริ่มต้น 140 ล้านบาท เคาะประมูลครั้งละ 2 ล้านบาท
ตารางประมูลทีวีดิจิตอล
เช้า 26 ธ.ค. HD 7 ช่อง เริ่มต้น 1,510 ล้านบาท
บ่าย 26 ธ.ค. SD 7 ช่อง เริ่มต้น 380 ล้านบาท
เช้า 27 ธ.ค. ช่องข่าว/สาระ 7 ช่อง เริ่มต้น 220 ล้านบาท
บ่าย 27 ธ.ค ช่องเด็ก/ครอบครัว 3 ช่อง เริ่มต้น 140 ล้านบาท
ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้นลงจะรู้ผลผู้ชนะการประมูลในทันที แต่จะสามารถรับรองผลการประมูลได้ภายหลัง 15 วัน เมื่อการประมูลจบลง และจะดำเนินการออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จในเดือน ม.ค.2557 และให้ออกอากาศได้ภายในเดือน ก.พ.2557 ต่อไป
ผลประมูลทีวีดิจิตอล
6 ม.ค. 57 กสท.รับรองผล
ก.พ. 57 เปิดให้บริการทีวีดิจิตอล
และหลังการประกาศรับรองผลการประมูล 30 วัน ผู้ชนะการประมูลจะต้องนำเงินมาชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ชำระราคาขั้นต้นการประมูลแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด คือ ในปีแรก จำนวน 50% ปีที่ 2 จำนวน 30% ปีที่ 3 จำนวน 10% และปีที่ 4 จำนวน 10% และในส่วนที่ 2. ชำระ 10% ของราคาที่เกินมาจากราคาขั้นต้น
นอกจากการเปิดประมูลทีวีดิจิตอลแล้ว กสทช.ยังเตรียมลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบกิจการวิทยุรายเดิม อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ อสมท. กองทัพบก ผู้ผลิตรถยนต์ที่ติดตั้งวิทยุในรถ รวมถึงผู้ผลิตวิทยุ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนวิทยุในระบบดิจิตอลที่จะเริ่มดำเนินการในปีหน้า (2557) เพื่อพัฒนากิจการวิทยุในระบบดิจิตอล แก้ปัญหาความหนาแน่นของคลื่นวิทยุที่รบกวนกันในปัจจุบันและเพิ่มปริมาณคลื่นความถี่วิทยุให้เพียงพอต่อความต้องการ พร้อมออกใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเพิ่มเติมอีก 111 ใบอนุญาต โดยได้ออกใบอนุญาตในกิจการวิทยุแล้ว 3,444 ใบอนุญาต
ข่าวเด่น