สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาแถลงผลการสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของวัยรุ่นไทยเขตกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 1,064 คน ระหว่างวันที่ 11-16 ธันวาคม 2556 พบวัยรุ่นไทยกว่า 60% ยังเล่นกีฬาอยู่ แต่มีเกือบ 40% โปรดใช้เวลายามว่างหน้าจอคอมพ์มากกว่าออกกำลังกาย
สืบเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องซึ่งดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบอินเทอร์เน็ตจึงทำให้เทคโนโลยีทั้งสองก้าวเข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบันอย่างมาก ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติของการใช้คอมพิวเตอร์ที่มีความหลากหลายใช้งานง่ายขึ้นพกพาไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกและราคาไม่สูงมากประกอบกับการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นมากขณะที่ผู้คนสามารถทำกิจกรรมที่หลากหลายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์เช่นการติดต่อสื่อสารพูดคุยค้นหาข้อมูลเล่นเกมชมภาพยนตร์ฟังเพลง เป็นต้นด้วยเหตุนี้ การใช้คอมพิวเตอร์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจึงเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ตามได้เริ่มมีเสียงสะท้อนของสังคมถึงผลกระทบจากการใช้งานคอมพิวเตอร์และการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่มีสะดวกรวดเร็วและสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะจากกลุ่มนักวิชาการและพ่อแม่ผู้ปกครองที่แสดงความห่วงใยว่ากลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นจะเอาเวลาไปอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำกิจกรรมต่างๆมากกว่าจะเอาเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น รวมไปถึงการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายซึ่งจะส่งผลเสียกับทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาว
จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 11-16ธันวาคม 2556 ซึ่งศ.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส กล่าวจากผลการสำรวจสามารถสรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.32 โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.63 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 19 ถึง 22 ปี และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ประกาศนียบัตรวิชาชีพ/เทียบเท่าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 33.27
ในด้านพฤติกรรมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.06 ระบุว่า ตนเองออกกำลังกายทั้งโดยการเล่นกีฬาและโดยวิธีอื่นๆ ควบคู่กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.95 ระบุว่าตนเองออกกำลังกายโดยวิธีต่างๆ เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้เล่นกีฬา และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.28 ระบุว่าตนเองออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.71 ไม่ได้ออกกำลังกายทั้งโดยการเล่นกีฬาและโดยวิธีอื่นใดเลย
เมื่อจำแนกเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่เล่นกีฬานั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 41.54 เล่นกีฬาบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.79 เล่นกีฬาเป็นประจำ และเมื่อจำแนกเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่ออกกำลังกายโดยวิธีต่างๆ นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.27 ระบุว่าออกกำลังกายบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.74 ออกกำลังกายเป็นประจำ
สำหรับประเภทกีฬาที่กลุ่มตัวอย่างนิยมเล่นเพื่อเป็นการออกกำลังกายสูงสุด 5 อันดับคือ ฟุตบอล คิดเป็นร้อยละ 84.98 แบดมินตัน คิดเป็นร้อยละ 81.82 วอลเลย์บอล คิดเป็นร้อยละ 80.11 บาสเกตบอล คิดเป็นร้อยละ 78.26 และฟุตซอล คิดเป็นร้อยละ 75.1 ส่วนวิธีการออกกำลังกายนอกเหนือจากการเล่นกีฬาที่กลุ่มตัวอย่างนิยมสูงสุด 5 อันดับคือ การเดิน/วิ่ง คิดเป็นร้อยละ 86.39 ออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์ เช่น ราวโหน สายพาน จักรยาน คิดเป็นร้อยละ 82.39 กายบริหาร เช่น วิดพื้น ซิทอัพ คิดเป็นร้อยละ 78.55 เต้นประกอบจังหวะ เช่น แอโรบิค ลีลาศ คิดเป็นร้อยละ 75.3 และเล่นโยคะ คิดเป็นร้อยละ 71.1
ในด้านความถี่และระยะเวลาในการเล่นกีฬา-ออกกำลังกายนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 39.89 เล่นกีฬา-ออกกำลังกายโดยเฉลี่ย 3 – 4 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.79 ออกกำลังกายโดยเฉลี่ย 30 – 60 นาที ส่วนสถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้เล่นกีฬา-ออกกำลังกายสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สนามกีฬาในสถาบันการศึกษา/ที่ทำงาน คิดเป็นร้อยละ 83.26 ลานกีฬาชุมชน คิดเป็นร้อยละ 81.05 และภายในบริเวณที่พักอาศัย คิดเป็นร้อยละ 77.79
สำหรับเหตุผลสำคัญ 5 อันดับสูงสุดที่กลุ่มตัวอย่างเล่นกีฬา-ออกกำลังกายคือ ต้องการให้ร่างกายแข็งแรง คิดเป็นร้อยละ 85.05 มีปัญหาสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 81.68 ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 79.16 ต้องการลดน้ำหนัก คิดเป็นร้อยละ 76.84 และบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนฝูงชักชวนให้เล่น คิดเป็นร้อยละ 74.24
แต่อย่างไรก็ตามในการเปรียบเทียบความต้องการระหว่างการเล่นกีฬา-ออกกำลังกายกับการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อกลุ่มตัวอย่างมีเวลาว่างจากการเรียน/ทำงานนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 39.58 ยอมรับว่าเมื่อมีเวลาว่างจากการเรียน/ทำงาน ตนเองอยากใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกม/ใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าอยากไปเล่นกีฬา/ออกกำลังกาย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเพียงประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 26.63 ระบุว่าตนเองอยากจะใช้เวลาว่างเพื่อเล่นกีฬา/ออกกำลังกายมากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.79 อยากทำทั้งสองอย่างพอๆ กัน
ข่าวเด่น