กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน พ.ย-ธ.ค. พบ การเมืองไทยกระทบสภาวะการทำธุรกิจ ส่งผลค่าดัชนีเศรษฐกิจเดือนพ.ย.ติดลบที่ระดับ 27 ซีอีโอส่วนใหญ่ระบุ "เลือกตั้ง" ไม่แก้ปัญหา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัท จำนวน 418 คนระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่าดัชนีด้านเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนมีค่า -27 ซึ่งติดลบต่อเนื่องกันมาเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวได้อย่างชัดเจน ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมือง จึงทำให้ค่าดัชนีทางเศรษฐกิจมีการปรับลดลงมาถึง 11 จุดในเดือนพฤศจิกายน และยังคาดการณ์ว่าในเดือนธันวาคม ดัชนีจะมีค่าลดลงถึง -31
การเมืองกระทบธุรกิจสูงสุด
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การเมืองภายในประเทศ ได้ 4.5 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ได้ 4.4 คะแนน ความต้องการของตลาดที่ลดลง ได้ 4.3 คะแนน ต้นทุนวัตถุดิบ ได้ 3.9 และสภาวะเศรษฐกิจของโลก ได้ 3.8 คะแนน
ซีอีโอระบุเลือกตั้งยังไม่แก้ปัญหา
ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารจำนวน 418 คน ผู้บริหารจำนวน 78.8% เชื่อว่า การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมของประเทศ เพราะในที่สุดแล้วการเมืองก็ยังจะกลับมาสู่วังวนเดิม ขณะที่ผู้บริหาร 21.2% ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองมีความชัดเจนขึ้น ช่วยให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
รายได้ลด กระทบสภาพคล่อง
ด้านดัชนีการทำธุรกิจมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงานนั้น จากการสำรวจดัชนีด้านรายได้ในเดือนพฤศจิกายน พบว่ามีค่าเป็น -24 และคาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเป็น -21 ในเดือนธันวาคม การที่ดัชนียังมีค่าติดลบ แสดงให้เห็นถึงรายได้ยังมีการปรับตัวลดลง ด้านดัชนีต้นทุนปรับลดลงเป็น 33 จุด และคาดการณ์ว่าจะปรับมาอยู่ที่ 27 จุดในเดือนธันวาคม ทิศทางที่ลดลงของรายได้ ขณะที่ต้นทุนยังสูง ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องยังคงมีค่าเป็นติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยมีค่า -9 และคาดว่าจะลดลงเป็น -10 ในเดือนธันวาคม ส่วนดัชนีการจ้างงานมีค่า -4 และคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น -2 จุดในธันวาคม
จากผลสำรวจที่ดัชนีทางเศรษฐกิจและดัชนีรายได้มีค่าติดลบติดต่อกันหลายเดือน สะท้อนให้เห็นว่า รายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่รัฐบาลยังไม่มีการออกมาตรการมาบรรเทาผลกระทบได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวที่เกิดขึ้นและนักธุรกิจยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน
ข่าวเด่น