เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กรมบัญชีกลางชะลอบังคับใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายา


 

 

 

กรมบัญชีกลางชะลอบังคับใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายา เหตุมีหลายฝ่ายกังวลและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงสถานพยาบาลอีกประมาณ 800 แห่ง ยังไม่มีความพร้อมด้านการจัดส่งข้อมูลยาเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง

 

 

 

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์การ Mark up เพื่อเบิกจ่ายค่ายาชื่อสามัญ (Generic drug) และยาต้นแบบ (Original drug) เพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ  โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไปนั้น ปรากฏว่า มีหลายฝ่ายได้แจ้งข้อกังวลและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น ประเด็นการเข้าถึงการใช้ยาที่จำเป็นหรือการใช้ยาต้นแบบที่ไม่มียาชื่อสามัญทดแทน เป็นต้น กรมบัญชีกลางได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา จึงได้มีการหารือโดยนำประเด็นอุปสรรคและข้อกังวลเข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

จากการประชุมหารือ ที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลให้การเตรียมการตามขั้นตอนต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย สถานพยาบาล ราชวิทยาลัย รวมถึง สมาคมแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้สั่งใช้ยาเพื่อการรักษา นอกจากนี้ เกณฑ์การจำแนกประเภทยาชื่อสามัญและยาต้นแบบยังไม่ชัดเจน และไม่ครอบคลุมรายการยาเพื่อให้กรมบัญชีกลางใช้อ้างอิงในการเบิกจ่ายยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า การ Mark Up ราคานั้น เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ รวมถึงสถานพยาบาลอีกประมาณ 800 แห่ง ยังไม่มีความพร้อมด้านการจัดส่งข้อมูลยาเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง

ที่ประชุม จึงมีความเห็นร่วมกันว่า หากดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว อาจเกิดผลกระทบและไม่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ดังนั้น จึงควรชะลอการบังคับใช้ออกไปก่อน เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น บัญชีรายการยาของสถานพยาบาล (Drug catalog) ที่อ้างอิงกับรหัสยามาตรฐานไทย (Thai Medicines Terminology: TMT) และราคากลางที่เบิก รวมถึงความพร้อมในการจัดส่งข้อมูลยาของสถานพยาบาลทุกแห่งที่ต้องส่งข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในข่ายความรับผิดชอบของสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อคิดเห็นและข้อมูลจากที่ประชุมข้างต้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการตัดสินใจในการดำเนินการของกรมบัญชีกลาง โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ดังนั้น กรมบัญชีกลางจึงเห็นสมควรชะลอการบังคับใช้ออกไประยะหนึ่งก่อนโดยกรมบัญชีกลางจะได้ออกหนังสือเวียนแจ้งให้ส่วนราชการ/สถานพยาบาลต่างๆ ทราบต่อไป


LastUpdate 25/12/2556 18:50:58 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:05 am