คปภ.กางแผนปี'57 วางโร้ดแม็พพัฒนาธุรกิจประกันอีก 5ปี มั่นใจสิ้นปีนี้เข้าเป้าเบี้ยกว่า 7 แสนล้าน เติบโต 12-13% คิดเป็นสัดส่วน 6% ของจีดีพี สานฝันเปิดเสรีประกันภัย ขยายขอบเขตธุรกิจประกันภัยไทย เปิดบริการนอกราชอาณาจักร พร้อมปูพรมไมโครอินชัวรันซ์ กระทุ้งตลาดภูธรสร้างหลักประกันครอบครัว
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในปี 2557 นี้ คปภ.มีภารกิจหลักที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จหรือคืบหน้าอยู่ 3 เรื่องใหญ่ โดยเรื่องแรกเป็นการเร่งจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัยฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นเสมือนโร้ดแม็พของการพัฒนาธุรกิจประกันภัยระยะ 5 ปี ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2558
ทั้งนี้ปัจจุบันคปภ.เดินยุทธศาสตร์พัฒนาธุรกิจประกันภัยตามแผนฉบับที่ 2 ซึ่งใช้ระหว่างปี 2553-2557 จึงกำลังจะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ โดยเป้าหมายการเติบโตของแผนฉบับที่ 2 กำหนดเป้าหมายสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีเอาไว้ที่อย่างน้อย 6% หรือคิดเป็นมูลค่าเบี้ยไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะเติบโต 12-13% จากสิ้นปี 2556 สัดส่วนเบี้ยประกันต่อจีดีพีอยู่ที่ 5.3-5.4%
"สำหรับแผนต่อไปเราต้องมาดูต่อไปว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันภัยจะเติบโตได้แค่ไหน ดูอุตสาหกรรมโดยรวม และดูทิศทางเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย เพราะต้องยอมรับว่า การเติบโตส่วนหนึ่งของธุรกิจประกันภัย โตล้อไปกับจีดีพี จากนั้นจึงค่อยมาวางตัวเลขกันต่อไปว่า สัดส่วนควรจะเป็นเท่าไหร่ของจีดีพีต่อไป"
นายประเวชกล่าวอีกว่า การวางแผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องไปกับแผนการเปิดเสรีภาคประกันภัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ โดยจะต้องกำหนดมาตรการผลักดันให้บริษัทประกันภัยเริ่มเตรียมความพร้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป วางแนวทางและลำดับอย่างชัดเจนพร้อมกับแจ้งให้ภาคเอกชนรับรู้ เพื่อค่อยๆ ปรับตัว
ฉะนั้น ต่อไปจะเป็นความพยายามที่จะผลักดันให้บริษัทประกันภัยไทยเริ่มออกไปบริการลูกค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศที่จะต้องได้รับบริการในลักษณะข้ามพรมแดนได้เช่นกัน เช่น ในกลุ่มประเทศ CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงแผนที่จะบังคับเพิ่มทุนการจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทประกันภัยด้วย จากปัจจุบันเริ่มต้นที่ 30 ล้านบาท ต่อไปอาจจะขยับเพิ่มขึ้นให้ใกล้เคียงกับในต่างประเทศ เช่น ที่ประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้บริษัทปรับตัว เพิ่มความมั่นคงแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันกับบริษัทประกันภัยต่างประเทศที่จะเข้ามารุกตลาดประเทศไทยได้
ภารกิจส่วนที่ 3 นายประเวชอธิบายว่า จะพยายามผลักดัน "ประกันภัย 200" ซึ่งเป็นประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้มีรายได้น้อย(ไมโครอินชัวรันซ์)ให้กระจายไปสู่ตลาดในวงกว้าง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของหลักประกันให้แก่ครอบครัวคนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งยังเข้าถึงประกันภัยได้น้อย จะเริ่มผลักดันเข้าไปมากขึ้น
"ก่อนหน้าจะเปิดตัวประกันภัย 200 เราศึกษาข้อมูลยุทธศาสตร์เอาไว้ก่อนแล้วว่า จะเจาะเข้าไปตลาดในจังหวัดไหนกันบ้าง ปีนี้ก็จะเริ่มเดินสายไปตามจังหวัดที่กำหนดไว้ เพื่อโปรโมทให้เขาตื่นตัวด้านการทำประกันภัย โดยใช้ประกันภัย 200 เป็นตัวตั้งต้น หรือถ้าเขาอยากจะต่อยอดไปซื้อสินค้าตัวอื่นๆ ที่คุ้มครองเพิ่มขึ้น มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่ตรงใจมากขึ้นได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน"
นอกจากนี้ นายประเวชยอมรับว่า ยังมีแนวคิดที่จะจับมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย เป็นต้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะนำข้อมูลด้านประกันภัยเข้าไปสู่พนักงานบริษัทหรือโรงงานที่เป็นสมาชิกของหน่วยงานเหล่านี้
"ที่ผ่านมาพบว่า มีบางบริษัทสนใจอยากจะซื้อเป็นของขวัญให้พนักงานในบริษัทหรือในโรงงาน ก็มีแผนจะพัฒนาเป็นบัตรของขวัญที่สามารถซื้อแทนกันได้ อาจจะทำเป็นบัตรของขวัญ แล้วไปแจกพนักงานให้โทรศัพท์เข้ามาเปิดใช้ได้เองตามต้องการ ประเด็นเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะยังมีประชากรกว่า 30 ล้านคนที่อยู่นอกระบบสวัสดิการ เราจึงต้องพยายามผลักดันให้ตื่นตัว แค่คนกลุ่มนี้มาซื้อได้ 10% ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว" นายประเวชกล่าว
ข่าวเด่น