13 ม.ค.วันดีเดย์ที่กลุ่มกปปส.ประกาศปิดกรุงเทพฯ (Bangkok shut down ) 20 จุดที่สำคัญและจังหวัดต่างๆ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ สร้างความกังวลให้กับรัฐบาล หน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองหลวงครั้งนี้ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงคลัง ที่เคยมีประสบการณ์ถูกกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. เข้ายึดพื้นที่มาแล้ว
ในการรับมือกับการชุมนุมรอบนี้ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าปฏิบัติงานฝ่ายไอที (Chief Information Officer )ของกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้สั่งการให้จัดทำแผนเพื่อรับมือในกรณีดังกล่าว โดยให้แต่ละกรมของกระทรวงรับไปดำเนินการ โดยเฉพาะระบบ IT ของแต่ละกรม ที่ให้บริการแก่ประชาชน เช่น กรมบัญชีกลาง,กรมสรรพากร,กรมศุลกากร ซึ่งกรมเหล่านี้มีระบบ back up ข้อมูลเพื่อให้การทำงานของหน่วยงานไม่หยุดลง แม้ในกรณีที่ถูกตัดไฟฟ้า ขณะที่ระบบ back up ข้อมูลของกระทรวงการคลัง มีระบบไฟฟ้าสำรองอยู่ได้นาน 7 วัน
ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น หากเป็นงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและออกเป็นพรบ.งบประมาณรายจ่ายแล้ว รวมถึงการประมูล e-auction เชื่อว่า ยังสามารถทำได้ตามปกติ
ด้านกระทรวงพลังงาน นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯจะเรียกประชุมหน่วยงานในสังกัดหารือ เพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์ชุมนุมใหญ่ในวันที่ 13 ม.ค.2557 เพื่อปิดพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ 20 จุด ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่สหภาพเมียนมาร์ปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติ โดยเมียนมาร์ประกาศปิดซ่อมระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.2556 - 14 ม.ค.2557 และเป็นช่วงเวลาที่กระทรวงพลังงานต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟฟ้าของประเทศเป็นพิเศษ
ทั้งนี้จะมีการจำลองสถานการณ์ในกรณีต่างๆ ตั้งแต่กรณีที่เป็นสถานการณ์ปกติ ไปจนถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ว่าแต่ละหน่วยงานจะต้องมีแผนรับมืออย่างไร ทั้งในส่วนของไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซแอลพีจี รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน ทั้งส่วนของโรงไฟฟ้า คลังน้ำมัน ท่อส่งก๊าซฯ และน้ำมัน ที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมแผนรับมือตามมาตรฐานความปลอดภัย
ส่วนทางนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้หารือกับนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมกับเรียกประชุมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย อาทิ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค , การประปานครหลวง , การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อไม่ให้มีการตัดน้ำตัดไฟเกิดขึ้น โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์
สำหรับกระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงได้หารือกับคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานครและกองบัญชาตำรวจนครบาล โดยจะเน้นในการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการประกาศปิดถนน โดยกระทรวงคมนาคมจะเป็นหน่วยงานหลักจัดตั้งศูนย์บัญชาการจัดการจราจร (Single Command) ประสานกับตำรวจและกทม.
ส่วนภาคเอกชน นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า จะหารือกับสมาชิกสมาคมฯ เพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มกปปส. ซึ่งเยาวราชเป็นจุดหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบหรืออาจเป็นจุดหนึ่งปักหลักชุมนุมในพื้นที่เยาวราช โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปิดร้านชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากทั้งลูกค้าและพนักงานไม่สามารถเดินทางมาที่เยาวราชได้ แต่การซื้อขายทองออนไลน์และผ่านทางโทรศัพท์สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ ซึ่งการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความเสียหาย เพราะการซื้อขายจะขึ้นอยู่กับราคาของทองคำเป็นหลัก
สำหรับร้านค้าทองย่านเยาวราชและพื้นที่ใกล้เคียงปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 100 แห่ง และโดยทั่วไปเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติฉุกเฉินเกิดขึ้น ร้านทองทุกพื้นที่จะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยด้วยการปิดร้านเพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินอยู่แล้ว
ส่วนพื้นที่ 20 จุด ที่กปปส. ประกาศปิดในเขตกรุงเทพฯ มีดังนี้คือ
1.แยกอุรุพงษ์ 2.แยกเจริญผล 3.หัวลำโพง 4.ถนนบางรัก 5.ถนนสีลม 6.สามย่าน 7.แยกพญาไท 8.ราชเทวี 9.อนุสาวรีย์ชัยฯ 10.สยามสแควร์ 11.จุด5 แยกลาดพร้าว 12.ดินแดง 13.ประตูน้ำ 14.แยกราชประสงค์ 15.สวนลุมพินี 16.คลองเตย 17.สี่แยกอโศก 18.ราชดำเนิน 19.แยกเพชรบุรี และ 20.เยาวราช
ข่าวเด่น