เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เงินบาททำสถิติอ่อนค่ามากสุดรอบเกือบ4 ปี


 

 

 

เงินบาทที่อ่อนค่าลงแตะระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำสถิติอ่อนค่าลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2553 หรือเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีมุมมองอย่างไร ไปติดตามกัน 

 

 

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุนของธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าลงมาอย่างรวดเร็วและอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพราะปัญหาการเมืองภายในประเทศกับภาวะ เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงโดยให้น้ำหนักถึง 80% ส่วนอีก 20% มาจากการลดขนาดมาตรการคิวอีของสหรัฐฯ 

 

 

 


ธนาคารกสิกรไทยมองว่า ภายใน 3 เดือน มีโอกาสได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าลงมาที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนผลกระทบที่ตามมา ในแง่ดีจะเป็นปัจจัยบวกช่วยผู้ส่งออกให้แลกเงินบาทได้เพิ่มขึ้น แต่ผู้นำเข้าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินช่วงต้นปี57 เงินบาทอ่อนค่าลง 0.5% เงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่า 0.3% เงินรูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่า 0.3% เงินดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่า 0.2% ริงกิตมาเลเซียอ่อนค่า 0.5% 

 


 

 

ส่วนมุมมองของผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะเห็นตรงกัน โดยนายวิศิษฏ์ ลิ้มประนะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเปิดเผยว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าลงมาถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่มีส่วนต่างผลกำไรต่ำ ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่ 31-32 บาท ถือว่าสนับสนุนให้ผู้ส่งออกนำไปเสนอราคากับคู่ค้าเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งได้ เทียบกับช่วงที่เงินบาทอยู่ที่ 29-30 บาทต่อดอลลาร์ ที่ผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งขันราคาได้ 

 

 

 

 

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ส.ร.ท.) หรือสภาผู้ส่งออกฯ ประเมินว่า การส่งออกจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2557 เมื่อเทียบกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในด้านอื่นๆที่ยังคงเผชิญกับปัญหาทางการเมือง เพราะส่งออกมีสัดส่วนต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)สูงถึง 70-75% นอกจากนี้ยังมสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกจากตลาดหลักอย่างสหรัฐและยุโรปในรอบ 5 ปี 

 

 

 

 

แม้แต่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะช่วยหนุนการส่งออกกลุ่มยานยนต์ให้ดีขึ้นและเป็นจังหวะที่เหมาะ เนื่องจากตอนนี้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศได้ปรับแผนการผลิตที่เน้นขายในประเทศไปเป็นเพื่อส่งออกมากขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออก ณ เดือนพ.ย. 2556 ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49% จาก 42% ในเดือนส.ค.และคาดว่าปี 2557 นี้จะอยู่ในระดับสูงกว่า50% 

แต่ในมุมมองของนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าไทย มองว่า ปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงมาแล้วประมาณ 8-9% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่เร็วผิดปกติและมากกว่าภูมิภาค ซึ่งแม้เงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่ในด้านการกำหนดต้นทุนและราคาสินค้านเพื่อการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออกนั้น จะทำได้ลำบากมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าส่งออกในระยะต่อไป เนื่องจากสูญเสียโอกาสในการค้าจากค่าเงินที่ผันผวน 

ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กังวลว่า ค่าเงินจะอ่อนมากไปกว่านี้หรือไม่ และไม่ต้องการเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงกว่านี้ เพราะแม้จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ดี แต่จะมีผลกระทบทางอื่น เรื่องการนำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น สินค้าพลังงานจะมีต้นทุนสูง และในส่วนภาระหนี้ต่างประเทศนั้นได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคอยติดตามดูแลแล้ว 

ส่วนนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์การอ่อนค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้านำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ เช่น กลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อย่าง เหล็ก ทองแดง สังกะสี สายไฟ ปุ๋ย เป็นต้น เนื่องจากเกรงว่าพ่อค้าจะใช้ประเด็นเรื่องค่าเงินบาทอ่อนมาเป็นข้ออ้างปรับขึ้นราคาสินค้า  

การอ่อนค่าลงของเงินบาท ต้องยอมรับว่า จะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ขณะเดียวกันจะมีผลกระทบต่อธุรกิจนำเข้าและภาระหนี้ต่างประเทศด้วย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเข้ามาดูแล เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่าย 

 


LastUpdate 05/01/2557 00:44:43 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:02 am