การลงทุนในหุ้นไอพีโอช่วงปี 2555-2556 สุด“ฮอต” ส่วนใหญ่ซื้อขายวันแรกปรับตัวเหนือราคาจอง ถึง 2 เท่า หรือ 200 % ก็มี แต่มีอยู่หลายครั้งที่ต้องเจ็บตัว นักลงทุนจึงต้องทำการบ้านก่อนตัดสินใจลงทุนหรือรู้จักปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นถือยาว
การลงทุนในหุ้นไอพีโอในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา(2555-2556) ต้องบอกว่า “ฮอต” สุดๆ เนื่องจากราคาหุ้น ไอพีโอ ส่วนใหญ่ในวันที่ซื้อขายวันแรก มักจะปรับตัวขึ้นเหนือราคาจอง และราคาเปิดวิ่งขึ้นไปเท่าตัว จนถึงเพดานซื้อขายที่ 2 เท่า หรือ 200 % ก็มี จนอาจกล่าวได้ว่า ติดตราตรึงใจแมงเม่าเหลือเกิน หรือใครก็ตามที่ลงทุนในตลาดหุ้นมาระยะหนึ่งแล้วก็คงจะได้ยินเพื่อนๆนักลงทุนคุยกันผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ ไลน์กรุ๊ป เฟซบุ๊ก เว็บเพจ เป็นต้น ว่า “หุ้นไอพีโอจะวิ่งขึ้นไปเท่าไหร่ ใครเป็นอันเดอร์ไรท์เตอร์” เพื่อจะการันตีหุ้นและความมั่นใจในหุ้นจองว่า ต้องดีดแรงแน่ๆ!!!!
ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างไอพีโอปีที่ผ่านมานำโดย บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน)(บมจ.) ราคาไอพีโอที่ 2.25 บาทต่อหุ้น ราคาเปิดวันแรก 6.75 บาทต่อหุ้น หรือ 2 เท่า บมจ. อัคคีปราการ ราคาไอพีโอ 2 บาทต่อหุ้น ราคาเปิดวันแรก 5.85 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้นถึง 192 % บมจ.ฟิลเตอร์วิชั่น ราคาไอพีโอ 1.2 บาทต่อหุ้นเปิดวันแรกราคา 3.5 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นถึง 191 % บมจ.ซังโกะ ไดคาซติ้ง(ประเทศไทย) ราคาไอพีโอ 1.3 บาทต่อหุ้น เปิดวันแรกราคา 3.68 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 183.08 % เป็นต้น
นางสาวปานตา ฉัตรมาศ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า จากสถิติช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา พบว่า หุ้น ไอพีโอ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ราคาปิดวันแรก ปรับตัวสูงขึ้น 76.92% ขณะที่หุ้น ไอพีโอ ที่จดทะเบียนในตลาด เอ็ม เอ ไอ ราคาปิดวันแรก ปรับตัวสูงขึ้น 90.00% เลยทีเดียว
ซึ่งขอย้ำว่า หากจองหุ้นได้เท่านั้นและมีการขายในวันที่ซื้อขายวันแรกนะครับ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะได้กำไรจากการลงทุนในหุ้น ไอพีโอ เพราะหลายครั้งหลังจากการจองซื้อราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจอง ทำให้หลายคนเจ็บตัวจากการซื้อหุ้น ไอพีโอก็มี หรือบางกลุ่มที่ไม่ได้ราคาจองแต่จะเข้าไปเก็บวันแรกของการซื้อขายก็มีที่เจ็บตัวเช่นกัน
ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพัฒนาการของตลาดทุนไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีพัฒนาการไปมากเช่นกันโดยเฉพาะกฎเกณฑ์หุ้นไอพีโอ ที่อิงขนาดของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ มาร์เก็ตแคป ซึ่งหมายความว่า บริษัทที่ก่อตั้งมาไม่จำเป็นจะต้องมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี แต่หากมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปตามที่กำหนด ก็สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ แบ่งเป็น บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในกระดาน SET จะต้องมีมาร์เก็ตแคปไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท ส่วนกระดาน เอ็ม เอไอ จะต้องมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 1 พันล้านบาท
และปี 2557 นี้หุ้นไอพีโอล่าสุด เป็นหุ้นไอพีโอตัวแรกที่อยู่ในกระดาน เอ็ม เอ ไอที่ใช้เกณฑ์มาร์เก็ตแคป คือ บริษัท เอไอ เอนเนอร์จี หรือ AIE ราคาไอพีโอ 4.75 บาทต่อหุ้น ซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2557 ราคาเปิดวันแรกต่ำจองที่ 4.3 บาทต่อหุ้น จนปิดตลาดร่วงมาปิดที่ 3.54 บาทต่อหุ้น คิดเป็น -25.47 % รับปีม้า 2557 ไปแล้ว สำหรับไอพีโอที่ใช้เกณฑ์มาร์เก็ตแคป นักลงทุนจึงต้องหันมาทำการบ้านให้มากขึ้นว่า เป็นเพราะสาเหตุใด ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า สถานการณ์ทางการเมืองซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอกการควบคุมของบริษัทฯที่กำลังจะเข้าตลาด ก็อาจจะต้องปรับแผนเช่น ถือยาวขึ้น หากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามนายจรัมพร โชติเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ยังยืนยันแผนเพิ่มหุ้นไอพีโอในปี 2557 ซึ่งจะสามารถเพิ่มขนาดมูลค่าตลาดรวมจากหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ (IPO)ให้ได้และปีนี้หุ้นไอพีโอที่คาดว่าจะเข้าตลาดคงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ระดับประมาณ 30 ตัว
สุดท้าย ขอยกคำเตือนที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” นะครับ
ข่าวเด่น