เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SMEs หวั่นการเมืองกระทบธุรกิจ


 

 



ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เผยการเมืองทำ SMEs เมืองกรุงเกือบหนึ่งในสามกังวลปัจจัยการเมือง กระทบธุรกิจ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความยืดเยื้อและความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น

 

 

 

 

กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ที่มีการชุมนุมใหญ่อย่างต่อเนื่องในกรุงเทพมหานครเพื่อต่อต้านการทำงานของรัฐบาล จนนำไปสู่การประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และการโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่ทว่าการประกาศยุบสภาดังกล่าว ไม่ได้ตอบโจทย์ตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การยุติการชุมนุมได้อย่างที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์ไว้ ความขัดแย้งทางการเมืองจึงดำเนินต่อเนื่องข้ามปีมาถึง 2557 และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดได้ในเร็ววัน

 

ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ร่วมกับ ศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี ได้สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั่วประเทศจำนวนกว่า 900 กิจการระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2556 พบว่า “การเมือง” เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยสัดส่วน SMEs ที่กังวลเรื่องดังกล่าว ในเดือนตุลาคมมีเพียง 6% และเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็น 13% และ 19% ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ตามลำดับ สอดคล้องกับการชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา

 


พื้นที่เขตกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุมโดยตรง ไม่ว่าจากการปิดถนน การเดินขบวน และความรุนแรงจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้ง จึงเป็นผลให้ SMEs ในเขตกรุงเทพฯ ที่มีความกังวลต่อปัจจัยการเมืองอยู่ก่อนแล้วที่ 14% ในเดือนตุลาคม กังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในเดือนธันวาคม เป็นสัดส่วนถึง 32% แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ชัดเจนต่อความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการในพื้นที่ 


ในขณะที่ ในพื้นที่ต่างจังหวัดและภูมิภาคอื่นๆที่อาจมีการชุมนุมทางการเมืองบ้างเป็นครั้งคราวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ความกังวลของผู้ประกอบการต่อปัจจัยทางการเมืองได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน จาก 2% ของจำนวน SMEs ทั้งหมดในเดือนตุลาคม เป็น 16% ในเดือนธันวาคม 

 

 

นอกจากนี้ เมื่อสอบถาม SMEs ต่อสภาวะธุรกิจตนเองใน 3 เดือนข้างหน้าพบว่า จำนวน SMEs ที่คาดว่าธุรกิจตนเองจะแย่ลงมีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 7% ในเดือนตุลาคมเป็น 14% ในเดือนธันวาคม หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งหากธุรกิจมีมุมมองต่อการดำเนินงานแย่ลง ย่อมส่งผลต่อการใช้จ่าย การลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซามาตั้งแต่กลางปี 2556 

 

หากเหตุการณ์ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปและขยายวงกว้างขึ้น ย่อมส่งผลต่อความกังวลและความเชื่อมั่นของธุรกิจ SMEs ซึ่งหากสามารถร่วมมือกันหาทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งได้เร็วเท่าใด ย่อมหมายถึงเศรษฐกิจไทยจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นเท่านั้น

 

LastUpdate 07/01/2557 14:24:52 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:23 am