หุ้นทอง
ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่มีประกันและแนวโน้ม "ซิงเกอร์" ที่ "BBB/Stable"


 

 

 

 

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ ซิงเกอร์ประเทศไทย ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”  สะท้อนการยอมรับเป็นอย่างดีในตราสัญลักษณ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของบริษัทในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เครือข่ายสาขาและตัวแทนจำหน่ายกว้างขวางทั่วประเทศ  

 

 

 ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความยอมรับเป็นอย่างดีในตราสัญลักษณ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของบริษัทในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตลอดจนเครือข่ายสาขาและตัวแทนจำหน่ายที่กว้างขวางทั่วประเทศ ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจให้สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ฐานลูกค้าที่กระจายตัว คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และพนักงานขายที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีและมีความใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนโดยคุณภาพเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าคณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายเพื่อที่จะดำรงความมั่นคงของสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ให้ได้ตามแผน อีกทั้งผลประกอบการทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและฐานะการเงิน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและคุณภาพสินเชื่อจะได้รับการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้                                                                             


         
บริษัทซิงเกอร์ประเทศไทยได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกลุ่มโดยการขายลูกหนี้เช่าซื้อทั้งหมดแก่ บริษัท ซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ปัจจุบันบริษัทให้ความสำคัญในด้านธุรกิจการค้า (Trading) และกำลังขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ โดยใช้ตราสินค้า “ซิงเกอร์” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายควบคู่ไปกับเครือข่ายที่กว้างขวางด้วยจำนวนสาขา 211 แห่งและพนักงานขายประมาณ 3,500 คนเป็นเครื่องมือสำคัญ ในขณะที่บริษัทซิงเกอร์ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าของบริษัทที่ซื้อสินค้าภายใต้ตราสินค้า “ซิงเกอร์”
         
ในปี 2553 บริษัทได้กลับมาให้ความสำคัญในการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนาน โดยใช้กลยุทธ์ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีการเพิ่มและเน้นจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้แก่ผู้ซื้อ เช่น ตู้แช่ เครื่องเติมเงินสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์นี้คิดเป็น 27% ของยอดขายรวมในปี 2553 41% ในปี 2554 และ 48% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556

แต่ที่ผ่านมาบริษัทมียอดบัญชีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นเป็น 161,881 บัญชีในปี 2555 จาก 143,099 บัญชีในปี 2554 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปจนกระทั่งในเดือนกันยายน 2556 จำนวนบัญชีก็เพิ่มขึ้นเป็น 180,988 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 11.8% จากปี 2555 ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กนี้ จัดว่ามีคุณภาพสูงกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มดั้งเดิมของบริษัท นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มใหม่ของบริษัทยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ลูกค้ากลุ่มใหม่นี้ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าและยกระดับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทเพิ่งจำหน่ายสินค้ากลุ่มใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ความสำเร็จของกลยุทธ์ใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทสร้างความมั่นคงให้แก่สถานะทางการตลาดและเพิ่มผลประกอบการยังต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ต่อไป
         
ลูกหนี้เช่าซื้อของบริษัทมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่และผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ โดยมูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,164 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 2,096 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2556 บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายควบคุมสินเชื่อขึ้นในปลายปี 2551 เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ใบสมัครสินเชื่อ และแยกอำนาจการอนุมัติสินเชื่อออกจากพนักงานขายเพื่อสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์และมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพของลูกหนี้เช่าซื้อ ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้อรวมปรับตัวดีขึ้นจากระดับสูงที่ 34.2% ในปี 2550 เป็น 4.3% ณ สิ้นปี 2555 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.32% ในเดือนกันยายน 2556 ซึ่งคณะผู้บริหารของบริษัทอธิบายว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้อรวมนั้นเกิดจากระบบจัดเก็บเงินใหม่ซึ่งเปลี่ยนรอบการตัดบัญชีในแต่ละเดือน

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะติดตามตรวจสอบอัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้ออย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากคุณภาพของลูกหนี้เช่าซื้อที่ถดถอยลง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเน้นจำหน่ายสินค้าบางประเภทโดยเฉพาะเท่านั้น ทริสเรทติ้ง คาดหวังว่าบริษัทจะกระจายฐานลูกค้าตามประเภทสินค้าเพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวด้วยเช่นกัน
         
สถานะทางการเงินของบริษัทได้รับผลกระทบในปี 2549 และ 2550 จากหนี้เสียจากสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงเป็น 624 ล้านบาทในปี 2550 จาก 2,299 ล้านบาท ในปี 2548 บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการฟื้นฟูธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กระบวนการและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้มากขึ้น การเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการเก็บเงิน การลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ไม่จำเป็น และการขยายประเภทสินค้าและฐานลูกค้า ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 89 ล้านบาทในปี 2553 จากที่มีผลขาดทุน 10 ล้านบาทในปี 2552 และปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 142 ล้านบาทในปี 2554 และ 226 ล้านบาท ในปี 2555 บริษัทบันทึกกำไรสุทธิ 277 ล้านบาท สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันในปี 2555 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มเป็น 11.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 จาก 9.2% ในปี 2555 และ 6.6% ในปี 2554

ผลจากการปรับตัวดีขึ้นของความสามารถในการทำกำไรทำให้ฐานทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,389 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2556 จาก 1,193 ล้านบาทในปี 2555 และ 981 ล้านบาทในปี 2554 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงเป็น 39.1% ในปี 2555 จาก 42.8% ในปี 2554 และ 49.3% ในปี 2553 อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 46.9% ในเดือนกันยายน 2556 อัตราส่วน ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับที่เพียงพอให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้ ในปี 2555 บริษัทได้ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดภายใต้สัญญาปรับปรุงการชำระหนี้ด้วยการใช้เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ การชำระหนี้ดังกล่าวช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทเนื่องจากภายใต้สัญญาปรับปรุงการชำระหนี้นั้นบริษัทจะไม่สามารถระดมทุนโดยการกู้ยืมได้ใหม่หากปราศจากความยินยอมจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่

          บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER)
          อันดับเครดิตองค์กร: BBB
          อันดับเครดิตตราสารหนี้:
          SINGER145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB
          SINGER155A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB
          SINGER165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB
          แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

 

 

 

 

 

 

 
 

LastUpdate 08/01/2557 18:33:43 โดย : Admin
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 12:34 pm