การตลาด
สกู๊ป...ไฮเออร์กู้วิกฤติยอดขายตก


 
 
 
 
 
ไฮเออร์ยอดขายในไทยปี2556 ตก ได้เพียง 1,800 ล้านบาท ผลจากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง หันปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ เน้นบริการหลังการขายมากขึ้น ด้วยบริการ “Care +” ให้กับผู้บริโภค เพิ่มเวลารับประกันสินค้าจาก 3 ปีเป็น 5 ปี 
 
 
 
 
 
 
จากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ประกอบกับผลกระทบที่ได้รับจากการชะลอกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่งที่เป็นภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ขณะที่กลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งต้องชะลอกำลังซื้อกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะได้เอาเงินส่วนหนึ่งไปใช้จ่ายกับการซื้อรถคันแรก และซื้อสมาร์ทโฟน จึงทำให้ปี 2556 บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจากประเทศจีน ภายใต้แบรนด์ ไฮเออร์ มีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 

ภาพรวมผลประกอบการในปีที่ผ่านมา ไฮเออร์ ทำยอดขายในประเทศไทยได้เพียง 1,800 ล้านบาท เท่านั้น หรือมีอัตราการเติบโตไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งเดิมที ไฮเออร์ ได้วางเป้าหมายไว้ว่า จะมีรายได้ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2,200 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี 2555 จากผลประกอบการที่ทำได้ดังกล่าวถือเป็นรายได้ที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย 

จากผลกระทบที่ได้รับดังกล่าว ส่งผลให้ไฮเออร์ ต้องออกมาประกาศปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด ด้วยการหันมาเน้นการบริการหลังการขายมากขึ้น ด้วยการนำเสนอบริการ “Care +” ให้กับผู้บริโภค ด้วยการเพิ่มระยะเวลาการรับประกันสินค้าจาก 3 ปีเป็น 5 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าของ ไฮเออร์ ซึ่งได้รับความไว้วางใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
 
 

นายอู๋ หย่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังบริษัทได้นำเสนอการรับประกันสินค้า 3 ปีเป็นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2553 จนกระทั่งปี 2556 รวมระยะเวลา 3 ปีเต็ม ตลอดระยะเวลาดังกล่าว คุณภาพสินค้าและบริการของ ไฮเออร์ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างดี และเพิ่มความมั่นใจมากขึ้นบริษัทได้เพิ่มระยะเวลาการรับประกันเป็น 5 ปี ให้กับกลุ่มสินค้า 

บริการแคร์พลัส ถือเป็นบริการที่คิดขึ้นโดยประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้ามากขึ้น ด้วยการเพิ่มระยะเวลาการรับประกันสินค้าจาก 3 ปีเป็น 5 ปีโดยเฉพาะสินค้าเครื่องปรับอากาศ โดยปัจจุบันบริษัทมีศูนย์บริการหลังการขายทั่วประเทศแล้ว 200 แห่ง ขณะที่ดีลเลอร์เองก็มีเพียงพอสำหรับบริการลูกค้าที่ประมาณ 400 ราย
 
 
 
 
 

นอกจากนี้ ในปีนี้ ไฮเออร์ ยังมีแผนที่จะนำเสนอสินค้าใหม่หลายตัวให้กับผู้บริโภค เช่น ตู้เย็น ได้มีการนำเสนอสินค้าประตูเดียวและสองประตูตัวใหม่ที่มาพร้อมสีสันใหม่ รูปลักษณ์ใหม่ และฟังก์ชั่นการใช้งานที่แปลกใหม่ไปจากเดิม แบ่งเป็นตู้เย็น 1 ประตู 5 รุ่น และตู้เย็น 2 ประตู 6 รุ่น ขณะที่เครื่องปรับอากาศ จะนำเสนอสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วยซีรี่ย์ของสินค้าที่ใช้น้ำยาทำความเย็น R410A ซึ่งประกอบไปด้วยรุ่นปกติและอินเวอร์เตอร์ รวม 10 รุ่น 

ส่วนเครื่องซักผ้า จะมีการนำเสนอเครื่องซักผ้าอัตโนมัติและสองถังที่มีความจุมากยิ่งขึ้น ตู้แช่ มีการนำเสนอซีรี่ย์ใหม่ตั้งแต่ขนาด 3.7Q ไปจนถึง 18.4Q ซึ่งประกอบไปด้วยตู้แช่แบบ 2 ประตู และ 3 ประตู รวม 5 รุ่น ด้านกลุ่มสินค้าแอลอีดีทีวี จะมีการนำเสนอฟังก์ชั่นของสมาร์ททีวีรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10 รุ่น ภายหลังจากทดลองนำสินค้าเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งการเปิดตัวสินค้าใหม่ดังกล่าวคาดว่า จะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท 
 
 
 
 
 

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนที่จะใช้งบอีกประมาณ 100 ล้านบาท ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านดิจิตอล เนื่องจากปัจจุบันกระแสสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตกำลังได้รับความนิยม จึงทำให้บริษัทต้องมีการพัฒนาสินค้าและบริการผ่านเว็บไซต์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ภายหลังจากปี 2556 ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทไฮเออร์ ได้ประกาศกลยุทธ์ขั้นตอนที่ 5 การสร้างเครือข่าย ตามการขยายขอบเขตของระบบเครือข่าย, เทคโนโลยี 3D , การใช้ข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น

นายอู๋ กล่าวว่า หลังจากการศึกษาตลาด พบว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การดำเนินชีวิตของผู้บริโภคก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน คือ มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคอินเทอร์เน็ต แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งใหม่สำหรับธุรกิจ แต่กลุ่มบริษัทไฮเออร์ ก็ได้พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับประกาศกลยุทธ์การพัฒนาองค์กร ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นรูปแบบของแพลตฟอร์มผ่านช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งสามารถใช้ช่องทางนี้แสดงความต้องการที่มีอยู่ รวมถึงใช้รวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วโลกแล้วมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้รวดเร็วที่สุด พร้อมกับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้ให้บริการ เพื่อเป็นการสร้างไลฟ์สไตล์แบบใหม่ให้กับผู้บริโภค

สิ่งที่สื่อถึงการปรับภาพลักษณ์ใหม่ของไฮเออร์ ที่ประกาศใช้พร้อมกันทั่วโลก คือ การปรับเปลี่ยนสีโลโก้จากสีแดงเป็นสีฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีและความสร้างสรรค์ รวมถึงรู้สึกได้ถึงความอัจฉริยะที่ซ่อนแฝงอยู่, เปลี่ยนจุดเหลี่ยมบนตัว “ i ” ให้เป็นจุดกลม สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดการสร้างแบรนด์ที่เป็นโกลบอลในยุคของอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังแสดงถึงการให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มของอินเทอร์เน็ตของไฮเออร์, รูปแบบกราฟฟิกยุคเครือข่าย เป็นสัญลักษณ์ยุคเครือข่ายซึ่งไร้ขอบเขต ไม่มีกรอบ และสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด

อีกหนึ่งสิ่งที่ที่ ไฮเออร์ ต้องปรับแผนในปีนี้คือ การหันไปบุกตลาดส่งออกมากขึ้น เนื่องจากเงินบาทของไทยยังอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันทะลุไปแล้ว 10% และหากยังอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ไฮเออร์ อาจต้องพิจารณาปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับผลกระทบจากต้นทุนดังกล่าว เบื้องต้น ไฮเออร์ จะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควบคู่ไปกับการขยายฐานการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันส่งออกไปแล้ว 27 ประเทศทั่วโลก

นายอู๋ กล่าวว่า บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทย ด้วยการมุ่งให้ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันโรงงานผลิตในไทยมีปริมาณการผลิตและส่งออกเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยตลาดหลักได้แก่ประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 40% ส่วนอีก 60% จะส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป, ตะวันออกกลาง, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอเมริกาใต้ 

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะให้โรงงานในประเทศไทยเป็นโรงงานที่มีศักยภาพ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ ไฮเออร์ เข้ามาซื้อกิจการโรงงานเมื่อปี 2550 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวใช้งบลงทุนไปมากพอสมควร ด้วยเหตุนี้ ไฮเออร์ จึงเชื่อมั่นและให้ความสำคัญในการพัฒนาให้โรงงานของไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม เพื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ไฮเออร์ มีแผนที่จะเข้าไปสร้างฐานการผลิตเพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาประเทศที่มีศักยภาพ ส่วนประเทศที่เริ่มเข้าไปลงทุนก่อสร้างฐานการผลิตแห่งใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วในขณะนี้ ประกอบด้วย รัสเซีย ,บราซิล และแอฟริกาใต้ ขณะที่ฐานผลิตในประเทศไทย ปีนี้มีแผนที่จะส่งออกตู้เย็นเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากจีนเป้นประเทศที่ใหญ่และมีความต้องการสูง
 
 
 

หลังจากออกมาปรับแผนการทำตลาดดังกล่าว ไฮเออร์ คาดการณ์ว่า สิ้นปีน่าจะมีรายได้ในประเทศเติบโตตามเป้าหมายที่ประมาณ 15% แม้ว่าขณะนี้ยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในส่วนของค่าเงินบาท และสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของรายได้จากการส่งออกปีนี้ ไฮเออร์ คาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เช่นกัน เนื่องจากปีนี้มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มาจากส่งออกปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 60-70% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 60% หรือมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 250 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ปัจจุบัน ไฮเออร์ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านรายใหญ่จากประเทศจีน มีโรงงาน 29 แห่ง และมีสาขากว่า 240 บริษัททั่วโลก โดยในประเทศไทย กลุ่มบริษัท ไฮเออร์ฯ เข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตตู้เย็นจากบริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล จำกัด และตั้งเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศในเดือนเม.ย. 2550 และในปี 2551-2554 สถาบัน ยูโร มอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดอันดับให้กลุ่มบริษัทไฮเออร์ฯ เป็นกลุ่มบริษัทที่มียอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก และล่าสุดจากรายงานการจัดอันดับของสถาบันยูโรมอนิเตอร์ปี 2556 ไฮเออร์ ยังคงครองตำแหน่งผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านปริมาณมากที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ด้วยการมีสัดส่วนทางการตลาดอยู่ที่ 9.7% โดยมีผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ตู้แช่ ตู้แช่ไวน์ครองอันดับหนึ่งของโลก
 

LastUpdate 17/04/2557 14:17:14 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:56 am