ก.ล.ต.เปิด บจ.ไทยสุ่มเสี่ยง “คอร์รัปชั่น” หลังผลสำรวจ CGR ปี 2556 พบบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคป 1-3 พันล้านบาท ผู้บริหาร กรรมการและบริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีสูง พร้อมปลุก บจ. สมาชิกทั้ง บล.และบลจ. เสริมสร้างการแข่งขันระยะยาว ชูประเด็นต่อต้านคอรัปชั่น รุกทบทวนเกณฑ์กรรมการ และผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัท
นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากผลสำรวจ ของธนาคารโลกได้ประเมินบรรษัทภิบาล(CG ROSC) ของตลาดทุนไทย พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็ก ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคป ต่ำกว่า 1-3 พันล้านบาท ดำเนินธุรกิจที่เสี่ยงและเข้าข่ายการคอรัปชั่นของกรรมการ และผู้บริหาร โดยเฉพาะ กรรมการและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท(Stakeholder) เสี่ยงทุจริตสูง และยังรวมถึง บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท เนื่องจากพบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดี และอยู่ระหว่างการชี้แจงข้อมูลกับหน่วยงานกำกับดูแล
ดังนั้นปี 2557 ก.ล.ต.จึงมีแผนจะทบทวนเกณฑ์ของคณะกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของทีมบริหารบริษัทไม่ให้เอาเปรียบผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีเป็นอิสระจากผู้บริหารมากยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นจะทบทวน ทั้ง จำนวน คุณสมบัติ และหน้าที่ของกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ และยังดูไปถึงข้อกำหนดในการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการ รวม การเพิ่ม Director pools นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการบุคคล โดยเฉพาะในเรื่อง รายการเกี่ยวโยงกัน(RPT) และรายการได้มาและจำหน่ายไป เป็นต้น
รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมการอิสระในด้านการดูแผนกลยุทธ์ และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้เห็นการทบทวนเกณฑ์ต่างๆในปีนี้
จากผลสำรวจของ CG ROSC ยังพบด้วยว่า การเอาตัวคนผิดในคดีตลาดทุนเพื่อมาลงโทษ ยังคงมีความล่าช้า และจากภาพการทุจริต คอรัปชั่น คือ ตัวฉุดของภาคตลาดทุนไทย
ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index : CPI) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ( Transparency Internation : TI) พบว่า ประเทศไทยได้คะแนนเพียง 35 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม โดยอยู่ในอันดับที่ 102 จากทั้งหมด 176 ประเทศ เนื่องจาก พบว่า บจ.ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมจะหยุดจ่าย โดยเกรงว่าจะกระทบต่อความสะดวก และระยะเวลา หรือความสามารถในการแข่งขัน ของบริษัทไปหากหยุด ทั้งนี้ ก.ล.ต.ยังรณรงค์ให้ทั้งบริษัทจดทะเบียน และบริษัทสมาชิก ทั้ง บริษัทหลักทรัพย์(บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ใส่ใจ และเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อต่อต้านคอรัปชั่น
ซึ่งทาง ก.ล.ต.เองก็ได้มีการออกแนวปฏิบัติให้กับ บจ.เปิดเผยนโยบาย และการดำเนินการป้องกันการคอร์รัปชั่น ส่วนบริษัทสมาชิกทั้ง บริษัทสมาชิก (บล.) ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมให้ประกาศเจตนารวมณ์แล้ว ยังจะประสานงานกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และสมาคม บล. จัดทำบทวิเคราะห์โดยเน้นให้ความสำคัญกับการมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น
ไม่เพียงเท่านี้ ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานการเข้าไปตรวจสอบสถานะกิจการ(due diligence) ในการจัดทำ ไอพีโอ ของที่บริษัทปรึกษาทางการเงิน(FA) และยังให้ครอบคลุม ถึงประเด็นและข่าวที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีนัยสำคัญอีกด้วย
ข่าวเด่น