สถานการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพมหานครของกลุ่มกปปส. ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรถไฟฟ้า ทำให้ยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่ม ส่วนการใช้บริการจากรถเมล์และทางด่วนลดลง 50%
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การชัตดาวน์กรุงเทพของ กลุ่ม กปปส. ที่มีการปิดการจราจร 7 จุดใหญ่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ในภาพรวมถือว่า ยังมีเส้นทางเลี่ยงที่รถยนต์สามารถเดินทางได้ โดยพบว่า ประชาชน 95% ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ส่วนวอร์รูมกระทรวงคมนาคมจะทำงานตลอดเวลาเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นรายชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนได้ทัน โดยเฉพาะรถเมล์ขสมก.ที่จะต้องปรับการเดินรถเมล์ให้สอดคล้องกับการปิดจราจรในแต่ละถนน ซึ่งขณะนี้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางประมาณ 87 สาย ส่วนระบบรถไฟฟ้าดูตามสถานการณ์ว่าสถานีไหนแน่น มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยหรือไม่ จะปรับอย่างไร
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม สรุปภาพรวมผลกระทบด้านการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในภาพรวมจากสถานการณ์การชุมนุมว่า ระบบรถโดยสารสาธารณะภายใต้โครงข่ายขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางรวม 169 เส้นทาง โดยมีการปิดการจราจรในทางแยกสำคัญและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 9 จุด ได้แก่
1.ถนนแจ้งวัฒนะ
2.แยกราชประสงค์
3.แยกปทุมวัน
4.แยกอโศก – เพชรบุรี
5.แยกสวนลุม – สีลม
6.ห้าแยกลาดพร้าว
7.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
8.สะพานพระราม 8
9.แยกกรมศุลกากร
ส่วนสถิติการเดินทางในวันที่ 13 มกราคม ที่มีการชัตดาวน์กรุงเทพวันแรกเปรียบเทียบกับการเดินทาง ในวันทำงานปกติ พบว่า รถเมล์ (ขสมก.-รถร่วมบริการ) มีผู้ใช้บริการ 5 แสนคน จากปกติมีผู้ใช้บริการรวม 3.1 ล้านคน ลดลง 58% ,ดอนเมืองโทลล์เวย์มี 5.4 หมื่นคนจากปกติ 1 แสนคน ลดลง 46% ,ทางด่วน 8.61 แสนคนจากปกติ 1.6 ล้านคน ลดลง 45% ,เรือคลองแสนแสบ 3.99 หมื่นคนจากปกติ 4.7 หมื่นคนลดลง 15% , เรือด่วนเจ้าพระยา 3.15 หมื่นคนจากปกติ 3.5 หมื่นคน ลดลง 10%
รถไฟชานเมือง 8 พันคนจากปกติ 1.5 หมื่นคน ลดลง 40% , สนามบินสุวรรณภูมิ 1.33 แสนคน จากปกติ 1.52 แสนคน ลดลง 13% ,สนามบินดอนเมือง 4.5 หมื่นคน จากปกติ 5.4 หมื่นคน ลดลง 18% , รถไฟฟ้าใต้ดิน 3.24 แสนคนจากปกติ 2.6 แสนคน เพิ่มขึ้น 20% ,รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ 6.78 หมื่นคนจากปกติ 5 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 36% ,รถไฟฟ้าBTS 9.25 แสนคนจากปกติ 6.7 แสนคน เพิ่มขึ้น 27%
ด้านผู้บริหารบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(มหาชน) นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า การเดินทางมาใช้บริการของประชาชนค่อนข้างดี แต่พบว่าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขาจรมากกว่าขาประจำ เพราะลูกค้าขาประจำอาจจะหยุดงานจึงทำให้มาใช้บริการน้อยลง ทั้งนี้ทางรถไฟฟ้าใต้ดินใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด 57 ตู้ 29 ขบวนและเข้าสถานีทุก 3 นาที เพื่อเร่งระบายประชาชนให้เข้าไปในเมืองได้อย่างเต็มที่
ส่วนนายอาณัติ อาภาภิรม ประธานกรรมการฝ่ายจัดการ บริษัทระบบขนส่งจำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า สำหรับวันนี้มีคนทำงานมาใช้บริการมากขึ้นกว่าวานนี้ (13 ม.ค.) แต่ทางบีทีเอสยังคงสั่งการให้ใช้รถจำนวน 50 ตู้ และใช้เวลาในการวิ่งรถโดยสายสุขุมวิทวิ่งด้วยความถี่ 2.40 นาทีต่อขบวน ด้านสายสีลม วิ่งด้วยความถี่ 4.30 นาทีต่อขบวนเหมือนเดิม
ข่าวเด่น