พฤกษาหนีไม่พ้นพิษการเมือง รับยอดขายช่วงเดือนธ.ค.ร่วง 15% เหตุผู้บริโภคขาดความมั่นใจ ไม่มีอารมณ์เลือกซื้อ เผยปีนี้เล็งเปิดโครงการใหม่เหลือ 40-50 โครงการ จากปี 56 ลุยเปิด 60 โครงการ แถมลดงบซื้อที่ดินเหลือ 10,000 ล้านบาท จากปีก่อนลุยซื้อ 14,500 ล้านบาท
ปัญหาการชุมนุมที่ยังไม่มีรู้ว่าจะจบลงอย่างไร เมื่อไหร่ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่า จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะภาคธุรกิจยังไม่สามารถประเมินผลที่จะกระทบได้
ในส่วนของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS ก็ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปลายเดือนพฤษจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดจองบ้านและคอนโดมิเนียมเดือนธันวาคม2556 ลดลง15% จากเดือนก่อนหน้า และยอดขายช่วงนี้อาจจะลดลงต่อเนื่องด้วย เพราะลูกค้าชะลอการตัดสินใจในการจองซื้อบ้านใหม่ เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ แต่ด้านยอดโอนบ้านยังอยู่ในระดับปกติ ไม่มีสัญญาณลดน้อยลง โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยแท้จริง ส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังแรก จึงไม่มีปัญหา
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 41,000 – 45,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับยอดขายรวมในปี 2556 ที่บริษัทสามารถทำยอดขายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 41,282 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายรายได้ 40,000 – 42,000 ล้านบาท และเพื่อรองรับกับเป้าหมายและการเติบโตของบริษัทจึงขยายโรงงานพฤกษา พรีคาสท์เพิ่มอีก 2 โรงงาน ที่นวนคร ใช้งบลงทุน 2,100 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลกจากประเทศเยอรมนี ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทุกขั้นตอน ทำให้ได้บ้านที่มีคุณภาพ สูงกว่ามาตรฐานทั่วไปและจะทำให้บริษัท มีกำลังการผลิตบ้าน รวมสูงถึง 1,120 หลังต่อเดือน คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในเดือนกันยายน ปีนี้
"ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2557 คาดว่าจะเติบโตในกรอบแคบๆ เพิ่มจากปี 2556 ประมาณไม่เกิน 5% โดยมีมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดประมาณ 640,000 ล้านบาท โดยต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่และพื้นที่ของจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถรองรับกับ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 แต่หากเกิดผลกระทบด้านปัจจัยลบต่างๆ คาดว่าตลาดอาจจะชะลอตัวลงประมาณ -2% ซึ่งกรุงเทพและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบมากกว่า"
แต่พฤกษาฯจะเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรักษาอัตราการเติบโตแบบยั่งยืน จับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นเรียลดีมานด์ ส่วนใหญ่จะเป็นในเซ็กเมนต์ระดับล่าง-กลาง และจะมีเพียงส่วนน้อยที่จะมีการขยายฐานลูกค้าไปยังเซ็กเมนต์ระดับกลาง-บน โดยจะโฟกัสในเรื่องการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบ Real Estate Manufacturing (REM) ที่จะนำมาใช้กับทุกโครงการแนวราบ เพื่อสามารถควบคุมคุณภาพ บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า เพื่อเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมแผนที่จะออกหุ้นกู้อายุ 3-5 ปี วงเงิน 5,000-7,000 ล้านบาท ช่วงไตรมาส 3 หรือ 4 ปีนี้ เพื่อใช้รองรับหากจำเป็นต้องลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต รวมทั้งเตรียมพร้อมหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเกิดขึ้น โดยเตรียมยื่นที่ประชุมคณะกรรมการก่อนขอมติผู้ถือหุ้นเดือนเมษายนนี้
ด้านนายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ พฤกษา กล่าวว่า ปีนี้ บริษัทจะเปิดโครงการใหม่ 40-50 โครงการ รวมมูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาท เป็นทาวน์เฮาส์ 25-29 โครงการ บ้านเดี่ยว 9-12 โครงการ คอนโดมิเนียม 5-8 โครงการ และต่างประเทศอีก 1 โครงการ ซึ่งต่ำกว่าปี 2556 ที่ผ่านมาที่เปิดตัว 60 โครงการ รวมมูลค่า 50,193 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้บริษัทวางเป้าหมายเฉพาะงานที่มีความพร้อมก่อนเท่านั้น หากการเมืองสงบภายหลังอาจจะปรับเป้าหมายใหม่อีกครั้งหนึ่ง
พร้อมกันนี้ได้วางเป้าหมายรายได้ปี2557 มาจากโครงการแนวราบ 80% และแนวสูง 20% ซึ่งปัจจุบันมีงานที่ค้างอยู่ในมือ (แบล็คล็อค) 37,836 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 20,786 ล้านบาท และยังมีรายได้อีกส่วนหนึ่งจากโครงการเดิมที่กำลังก่อสร้างอีก 164 โครงการ มูลค่ารวม 59,689 ล้านบาท จึงมั่นใจได้ว่าปีนี้ จะเป็นอีกปีหนึ่งที่บริษัท จะรักษามาตรฐานคุณภาพของบ้านที่ดี เพื่อส่งมอบให้ลูกค้า พร้อมทั้งเติบโตและบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้เหมือนปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ได้เตรียมงบประมาณการซื้อที่ดินไว้ 10,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2556 ที่ใช้งบซื้อที่ดินมากถึง 14,500 ล้านบาท เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ซื้อที่ดินเก็บไว้ค่อนข้างมากแล้ว อีกทั้งปีนี้ต้องการเน้นการบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากซื้อที่ดินเก็บไว้มากเกินไปอาจมีภาระเรื่องดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 22 มกราคมนี้ คาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ต่อไป
ข่าวเด่น