เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 3/2557 : คาดการณ์ผลที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองแบบสันติ อหิงสา


 
 
 
 
 
ในวันที่ผมเขียนบทความนี้ (วันที่ 21 มกราคม 2557) คงต้องบอกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมในวันรุ่งขึ้นซึ่งก็คือ วันที่ 22 มกราคม 2557 เราๆ ท่านๆ ลองมาคิดตามนะครับว่ากรรมการจะดำเนินนโยบายอย่างไรกันบ้าง โดยผมมีประเด็นเป็นข้อมูลป้อนเข้าดังนี้ครับ 

1. มองได้หรือไม่ว่า กนง. น่าจะเก็บกระสุนไว้ก่อน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 2.25% แม้ความเสี่ยงการเมืองในประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น แต่การเดินขบวนไปยังที่ต่างๆ นั้นยังไม่รุนแรงมากจนทำให้เศรษฐกิจ หน่วยธุรกิจห้างร้าน หยุดชะงักจนไม่ทำมาค้าขาย รถติดมากขึ้น อาจไม่สะดวกมากขึ้นแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมี 

2. การขยายตัวของสินเชื่อและอัตราการเติบโตของสินเชื่อยังอยู่ในระดับสูงเกือบ 10% หรือประมาณ 2 เท่าของอัตราการโตของ GDP ปัจจัยนี้เอามาตอบว่ายังเร็วเกินไปหรือไม่ที่จะตัดสินใจผ่อนคลายทางการเงินในเวลานี้เพื่อกระตุ้นการกู้ยืมของผู้บริโภค และธุรกิจเอกชน 

3. ปัจจัยที่กำลังตามมาลดทอนปัจจัยในข้อ 2. คือจำนวนบัญชีสินเชื่อนิติบุคคลที่กู้ยืมเงินสถาบันการเงินและมีการจัดเก็บประวัติไว้ที่เครดิตบูโร นั้น บัญชีที่มีการเริ่มค้างชำระจนถึงการค้างชำระถึง 3 เดือนหรือที่เรียกว่า หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษนั้นมีจำนวนการเติบโตจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันนัั้นมีตัวเลขเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

4. สถานการณ์หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือการไม่มีการเลือกตั้ง อะไรจะเกิดขึ้นยังยากจะคาดเดามากภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคลุมเครือในปัจจุบัน ภาพความไม่สงบทางการเมืองอาจก่อให้เกิดความรู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดูไม่ค่อยสวย แต่ของแบบนี้ต้องดูกันยาวพอสมควร 

5. การแถลงและรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาส 4 ของปี 2556 ที่ได้ประกาศ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ข้อมูลชุดนี้จะช่วยประเมินเศรษฐกิจของไทยในอนาคตในปี 2557 ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

6. นายธนาคารใหญ่ที่รัฐถือหุ้นระบุว่า เรื่องการให้กู้ยืม ธนาคารใช้หลักเกณฑ์เดียวกับสถาบันการเงินอื่นที่ให้วงเงินสินเชื่อโดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ โดยในบางวงเงินจะมีการพิจารณาผ่านกระบวนการสอบทานและกลั่นกรองสินเชื่อโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมกับสภาพธุรกิจและฐานะทางการเงิน ดังนั้นการจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจกับประชาชนและผู้ฝากเงินคงเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงต้องมีหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด ยิ่งเป็นในเวลานี้เรียกได้ว่าใส่เสื้อกันกระสุนกันเลยทีเดียว 

7. การส่งสัญญาณของทางคณะกรรมการในครั้งนี้จึงจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักให้มากว่าจะเป็นลักษณะ "ปรับลดไปก่อน" เพื่อสะท้อนการบริหารจัดการกับผลกระทบที่จะมาจากความเสี่ยงของการเมืองต่อระบบเศรษฐกิจไทยในลักษณะเชิงรุกดีหรือไม่ หรือจะเป็นแบบอนุรักษ์นิยมหน่อยว่า เอาให้เห็นภาพชัดอีกนิดดีกว่ามั้ยเพราะตัวเลขเพื่อการตัดสินใจกำลังจะออกมาแล้ว เช่น ตัวเลขการส่งออก ดังนั้นเวลานี้เอาแบบ "เท่าเดิมไปก่อน จนกว่าจะชัดกว่านี้" 

8. พัฒนาการของเหตุการณ์ทางการเมืองที่จะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นว่าจะไปในทางไหนจะเป็นตัวชี้ขาดใน "ท่าทีเชิงนโยบาย" ศิลปะของการตัดสินใจ "ช้า เร็ว หนัก เบา" ในเรื่องเศรษฐกิจที่อ่อนไหวบนเงื่อนไขว่า หากพบว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ก็สามารถดำเนินการได้เร็ว โดยไม่ต้องรอการประชุมอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 12 มีนาคม 2557 

ทั้งหมดนี้ในจำนวน 8 ประเด็นคงจะได้ปรากฏในเอกสารของผลสรุปการประชุมของ กนง. ในครั้งนี้ เราลองมาติดตามนะครับว่าจะเป็นอย่างไรกัน




สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2557 เวลา : 18:10:25
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:31 am