มุมมองจากผู้คนในแวดวงนักธุรกิจ นักวิชาการ เกี่ยวกับการออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและมองว่า ยังเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้ทรุดหนักลงไปอีก
โดยภาคธุรกิจตลาดทุนไทย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยออกแถลงการณ์ว่า การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะซ้ำเติมความไม่มั่นใจนักลงทุน ภาคธุรกิจและประชาชน จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาใช้อย่างระมัดระวัง
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวว่า ขณะนี้มีนักธุรกิจ นักลงทุนและนักท่องเที่ยว ยกเลิกการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งยกเลิกแผนการเยี่ยมชมธุรกิจหรือ company visit หลัก เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย และบริษัทประกันชีวิต ประกันภัย จะไม่จ่ายชดเชยหากเกิดเหตุในประเทศที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้มีความอ่อนไหวในเรื่องการเมืองค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ยังกังวลว่าจะกระทบกับภาคการเงินและภาคการลงทุน เพราะปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะความเปราะบางมากกว่าวิกฤติปี 2535 ปี 2551 และ ปี 2553 ดังนั้น จึงขอให้สถานการณ์จบลงด้วยสันติโดยเร็ว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการทำลายอารมณ์การลงทุน เพราะขณะนี้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ยังสามารถใช้ดูแลสถานการณ์ได้อยู่แล้ว หรือรัฐบาลอาจจะเห็นประเด็นอื่นที่สาธารณชนไม่รับทราบ จึงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยอมรับว่ามีผลต่อการลงทุนในระยะสั้น
ส่วนในระยะยาวยังเชื่อมั่นว่า เงินทุนต่างชาติจะกลับมาลงทุนในไทย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน นักธุรกิจไทยมีความสามารถ ดังนั้น ขอให้ภาคธุรกิจใช้ช่วงเวลานี้ปรับปรุงธุรกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อพร้อมเดินหน้ากิจการเมื่อเหตุการณ์การเมืองกลับสู่ภาวะปกติ
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ยอมรับว่า นักลงทุนต่างชาติได้สอบถามถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มายังโบรกเกอร์ต่างๆ ซึ่งได้ชี้แจงว่า ยังไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เป็นมาตรการที่รัฐบาลใช้ดูแลสถานการณ์ แต่หาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กินเวลายาวนาน ผลกระทบจะมีมากขึ้น
ขณะที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านเครดิตอาจยิ่งเพิ่มความท้าทาย แม้จะมีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) เนื่องจาก พระราชกำหนดฉบับนี้ อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ โดยการกำหนดกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งจะมีผลครอบคลุมไปจนถึงก่อนและหลังวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
ประกอบกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนันสนุนเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งฟิทช์ ระบุว่า การประกาศพระราชกำหนด อาจจะช่วยจำกัดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ก็ไม่น่าจะช่วยให้ภาคธนาคารพาณิชย์ไทยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้น
โดยเมื่อวิเคราะห์ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่เริ่มมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พบว่า ภาคธุรกิจมีการเติบโตชะลอตัวลง และอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยเฉพาะระดับหนี้สินในภาคครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2556 จากร้อยละ 60 ณ สิ้นปี 2552
ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ บอกว่า ภาคการท่องเที่ยวขอเรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยเร็วที่สุด เพราะจะเป็นสาเหตุให้ต่างประเทศยกระดับการเตือนในการเดินทางเข้าประเทศไทย สู่ระดับ 4 ถึง ระดับ 5 จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2 และ 3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมาก
ข่าวเด่น