กองทุนภัยพิบัติปูทางถอย เล็งเปิดช่องกลไกประกันเดินหน้าแทน อนุญาตบริษัทประกันรับเสี่ยงภัยเอง หากคิดเบี้ยได้ต่ำกว่ากองทุนอย่างน้อย 20% พร้อมคลายเงื่อนไขอื่นลง สั่งคณะทำงานศึกษาแนวทาง-ผลกระทบ ก่อนชงบอร์ดกองทุนฯ รอบหน้า
แหล่งข่าวจากกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติเปิดเผยว่า กองทุนฯ จะค่อยๆ ลดบทบาทในการรับประกันภัยลงผ่านการเปิดเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัยสามารถรับเสี่ยงภัยจากกรณีภัยพิบัติได้เอง โดยไม่ต้องส่งประกันภัยต่อเข้ามายังที่กองทุนฯ ได้ หากบริษัทประกันภัยสามารถคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยได้ไม่น้อยกว่า 20% จากอัตราค่าเบี้ยของกองทุนฯ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้อนุญาตไปแล้วสำหรับงานรับประกันภัยที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจรายใหญ่ แต่ยังเหลือการรับประกันภัยรายย่อย
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนฯ จะคิดค่าเบี้ยประกันภัยต่อในอัตรา 0.5% สำหรับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยรายย่อย 1.00% สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี และ 1.25% สำหรับธุรกิจรายใหญ่
"การปรับตัวครั้งนี้เพื่อผลักดันให้กลไกของระบบประกันภัยกลับเข้ามาทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมากองทุนฯ ถูกตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์พิเศษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนและทำให้ระบบประกันภัยสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่เมื่อภาวะกลับสู่ปกติแล้ว เห็นได้จากปีที่ผ่านมางานประกันภัยพิบัติของลูกค้ารายใหญ่เริ่มไปอยู่ที่บริษัทประกันภัยมากขึ้นแล้ว ฉะนั้นกองทุนฯ ก็ควรค่อยๆ ลดบทบาทลง" แหล่งข่าวกล่าว
สอดคล้องกับนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะกรรมการกองทุนฯ กล่าวก่อนหน้านี้เช่นกันว่า ปี 2557 กองทุนฯ น่าจะต้องผลักดันให้กลไกประกันภัยทำงานต่อได้เอง เพราะปัจจุบันอัตราเบี้ยในตลาดประกันภัยต่อเริ่มลดลงมามากพอสมควร และการเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยรับเสี่ยงภัยพิบัติได้เองในกรณีลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีและธุรกิจรายใหญ่ปีที่แล้ว ก็ถือว่าได้ผลพอสมควร
นายประเวชกล่าวอีกว่า การผลักดันให้บริษัทประกันภัยเข้ารับงานได้มากขึ้นนั้น ทางกองทุนฯ ได้ศึกษาแนวทางไว้หลายช่องทาง ก่อนหน้านี้เคยคิดว่า อาจจะปรับลดค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับแต่ละกลุ่มลง เพื่อเป็นไกด์ไลน์เบื้องต้นให้อัตราค่าเบี้ยในตลาดต้องลดลงตาม แต่วิธีการนี้คงทำได้ยากในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขมติ ครม. เดิม ซึ่งขณะนี้ได้ยุบสภาไปแล้ว
ดังนั้น ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ การอนุญาตให้บริษัทประกันภัยรับเสี่ยงภัยกรณีภัยพิบัติได้เอง โดยใช้ประกันภัยต่อและเงินกองทุนของตัวเอง ไม่ต้องส่งเข้ามาให้กองทุนฯ ก็ได้ หากสามารถคิดค่าเบี้ยได้ต่ำกว่าอัตราที่กองทุนฯ กำหนดอย่างน้อย 20% สำหรับการรับประกันภัยทุกกลุ่ม ซึ่งตรงนี้สามารถทำได้ง่ายกว่า ออกเป็นประกาศของกองทุนฯ ได้ ไม่ต้องไปแก้ไขมติ ครม.
"การปรับปรุงเงื่อนไขเหล่านี้ นอกจากผลักดันให้กลไกประกันภัยจะกลับมาทำงานได้ตามเดิมแล้ว ในแง่ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นรายย่อย หรือเอสเอ็มอี หรือธุรกิจรายใหญ่ ก็น่าจะได้เงื่อนไขความคุ้มครองภัยพิบัติที่ดีขึ้น และค่าเบี้ยถูกลงด้วย" นายประเวชกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังได้มอบให้คณะทำงานไปศึกษาวิธีการต่างๆ อยู่ เพราะอาจจะปรับลดเงื่อนไขอื่นๆ ลงด้วย เช่น การยกเลิกการจำกัดวงเงินคุ้มครองกรณีภัยพิบัติ (ซับลิมิต) และการแยกประกันภัยพิบัติออกจากการบังคับขายคู่กับประกันอัคคีภัย รวมถึงศึกษาผลกระทบในการปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าวด้วย โดยคาดว่าจะได้ข้อเสนอเข้ามาให้คณะกรรมการ กองทุนฯ ในการประชุมครั้งถัดไป
ข่าวเด่น