แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทยสั่งเจาะค้าขายสินค้าเกษตรแนวชายแดน-ในประเทศ ดันรายได้พุ่ง 12% เฉียด 4 หมื่นล้าน


 

 

 

แบงก์กสิกรไทยเปิดฉากลุยเอสเอ็มอีค้าชายแดน ตีตลาดผู้ค้าสินค้าเกษตร เล็งต่อยอดบริการการเงิน เพิ่มความสะดวก-ปลอดภัย ง่ายไม่ต้องเดินบัญชี ตั้งธงปล่อยกู้โต 9% พร้อมเดินหน้าปั๊มรายได้พุ่ง 12%

 


นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์การรุกตลาดสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีปีนี้ ธนาคารมองว่า ตลาดสินค้าเกษตรจะเป็นเป้าหมายการเติบโตที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มการค้าชายแดน ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการไทยข้ามไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและการรับซื้อสินค้าเกษตรจากผู้ผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นแรงผลักดันสำหรับการเติบโตของพอร์ตเอสเอ็มอีในปีนี้
 
"ปกติธุรกิจเหล่านี้จะยังซื้อ-ขายกันด้วยเงินสดเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการเก็บรักษาเงิน รวมถึงความสะดวกเรื่องขนย้ายและตรวจนับ เช่นถ้าจะถือเงินข้ามแดนไปจำนวนมากๆ ก็ค่อนข้างอันตรายและยุ่งยาก แต่ถ้าสามารถดึงให้เข้ามาอยู่ในธนาคาร ใช้การโอนเงินผ่านทางบัญชีระหว่างกัน จะช่วยตอบโจทย์ทั้งความสะดวกและปลอดภัยด้วย นี่จะเป็นจุดขายสำคัญที่เราจะเข้าไปเสนอให้ลูกค้า"
 
นายพัชรกล่าวอีกว่า ตอนนี้ธนาคารเริ่มส่งทีมพัฒนาธุรกิจเข้าไปจับตลาดในบริเวณจุดผ่านแดนใหญ่ๆ ของไทย ที่จะเชื่อมต่อไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งจะค้าขายกับประเทศเมียนมาร์ รวมถึงภาคอีสานที่จะค้าขายกับประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา

 


 
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนจะขยายบริการดังกล่าวเข้าไปเจาะกลุ่มผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตรภายในประเทศด้วย เช่น กลุ่มผู้ค้าพืชไร่ ลานมันสำปะหลัง ลานข้าวโพด เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมเช่นเดียวกัน
 
"ปีนี้เราพยายามเจาะเข้าไปหากลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ซื้อขายกันด้วยเงินสด ยังไม่ค่อยทำธุรกรรมผ่านทางบัญชี จึงไม่มีรายการเดินบัญชี ธนาคารจะเข้าไปปล่อยสินเชื่อทันทีก็คงยาก ปีนี้เราก็จะพยายามพัฒนาบริการใหม่ในลักษณะที่เปิดโอกาสให้ลูกค้ารายใหม่ๆ เข้ามาสู่บริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินบัญชีกับธนาคารก่อนก็ได้ แต่อาจใช้หลักฐานทางการเงินอื่นๆ มาวิเคราะห์แทน เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าดังกล่าว"
 
ส่วนกรณีสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอย่างหนักตั้งแต่ช่วงต้นปี นายพัชรยอมรับว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มนำเข้าทำให้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้สต็อคสินค้าเอาไว้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก็จะต้องเผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงค่าเงิน ซึ่งเชื่อว่า ผู้นำเข้าเองก็ต้องปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนไปด้วย
 
"ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงมีบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่หนักมากนัก ถ้าต้นทุนมาแพงขึ้น อาจกระทบให้กำไรในระยะสั้นลดลงบ้าง แต่ธุรกิจก็ต้องสะท้อนผ่านราคาขายต่อไป ส่วนผลกระทบต่อลูกค้าของธนาคาร คิดว่าน่าจะไม่มากนัก เพราะปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้วงเงินเทรดไฟแนนซ์เพื่อการนำเข้า-ส่งออกประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จากพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารกว่า 5 แสนล้านบาท"
 
ขณะเดียวกัน กลุ่มที่น่าจะได้อานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่าคือ กลุ่มผู้ส่งออก ซึ่งปีที่แล้วฐานการส่งออกค่อนข้างต่ำ ปีนี้น่าจะเติบโตได้ดีขึ้น บวกกับปัจจัยสถานการณ์ตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัว ความต้องการบริโภคต่างๆ ก็จะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคส่งออกของไทยด้วย
 
สำหรับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้ นายพัชร กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อเอสเอ็มอีราว 9% จากฐานเดิมในปีที่แล้วราว 5 แสนล้านบาท และตั้งเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 12% จากฐานปีที่แล้วราว 3.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท นอกจากจะมีรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อแล้ว รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆ เช่น ประกันภัย เทรดไฟแนนซ์ ก็จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญด้วย


LastUpdate 27/01/2557 13:26:35 โดย : Admin
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 5:48 am