การค้า-อุตสาหกรรม
คิดใหม่ มองใหม่ เมียนมาร์ ศักยภาพสูงพร้อมรับ AEC เตือนนักธุรกิจไทย


 

    
 

 

เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง มองเมียนมาร์พร้อมก้าวสู่ AEC จากหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่เติบโตระดับ 7-12% ความสมบูรณ์ทรัพยากรทั้งแก๊ส น้ำมัน สินทรัพย์ในน้ำและการเกษตร บวกการเมืองและประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ชี้เปิดโอกาสทำธุรกิจหลายด้านทั้งสาธารณูปโภค ด้านบริการและสินค้าอุปโภคบริโภค หลายชาติที่เคยลังเลแห่เข้า เตือนนักธุรกิจไทยคิดใหม่ มองใหม่และอย่าช้า  

 
 
 
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ภายหลังการเปิดประเทศของเมียนมาร์ ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นแม่เหล็กสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย นักธุรกิจจากหลายชาติให้ความสนใจ มองเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดเกิดใหม่แห่งนี้  รวมถึงนักธุรกิจจากไทย ซึ่งล่าสุดเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ธุรกิจประกันสัญชาติไทยพร้อมรุกเข้าประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน  โดยจะนำร่องด้วยการไปตั้งสำนักงานตัวแทน (Representative Office) หลังได้รับการอนุมัติแล้ว นับเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนในเมียนมาร์
เหล่านักธุรกิจให้ความสนใจกับเมียนมาร์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาการรวมเป็นตลาดเดียวกันของกลุ่มชาติสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Asean)หรืออาเซียน ที่เรียกว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันคล้าย Euro Zone  ทำให้สมาชิก 10 ชาติ คือ ไทย เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน จะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันและเกิดการเคลื่อนย้ายของทุน สินค้าและบริการอย่างเสรีภายในหมู่สมาชิก
 
เมียนมาร์พร้อมก้าวสู่ AEC
 
 
 
นายพิษณุ สุวรรณะชฎ  เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง เปิดเผยระหว่างปาฐกถาถึงความพร้อมของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ต่อการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)แก่คณะสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทางไปกับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) ณ กรุงย่างกุ้งว่า เมียนมาร์ได้เปิดประเทศและเดินหน้าปฏิรูปประเทศมาเป็นเวลา 2 ปีแล้วและนับว่ามีศักยภาพและความพร้อมในการเข้าสู่ AEC
โดยที่ผ่านมาเมียนมาร์เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่มาแล้วถึง 2 ครั้ง  ได้แก่ เจ้าภาพการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 27 ที่เมืองเนปิดอ เมืองหลวงแห่งใหม่ของเมียนมาร์ ถือเป็นการจัดครั้งแรกในรอบ 44 ปีของการจัดงานกีฬาระดับนานาชาติ  ก่อนตามด้วยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 18 ณ เมืองพุกาม ภารกิจดังกล่าวเหล่าคณะทูตานุทูตมองว่า เมียนมาร์สอบผ่านทั้งในด้านความสำเร็จและความตั้งใจเต็ม 100
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ปี 2557 เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียน ที่ต้องวางกลไกทุกอย่างสำหรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งประเทศที่เป็นประธานปีหน้าต้องยึดถือปฏิบัติต่อไป การทำหน้าที่ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญ
“การเป็นประธานครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการจับฉลาก แต่เกิดจากความตั้งใจ อาสาของเมียนมาร์ เพราะความสำเร็จของการเป็นประธานอาเซียนจะนำพาเมียนมาร์ไปสู่แถวหน้าของอาเซียนและสังคมที่มีอาเซียนเป็นสะพาน และยังจะเป็นผลดีในทางการเมืองอย่างมีนัยะสำคัญอย่างมากสำหรับเมียนมาร์ทั้งเรื่องการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม “
 
เมียนมาร์เปลี่ยนไป นักลงทุนจึงต้องคิดใหม่ มองใหม่  
 
เอกอัครราชทูตไทย ในย่างกุ้งกล่าวต่อว่า เวลานี้เมียนมาร์เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เมียนมาร์ในวันนี้ไม่เหมือนเมียนมาร์ในอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องปรับมุมมองหรือทัศนคติเสียใหม่เพื่อทำธุรกิจการค้ากับเมียนมาร์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม
ทั้งนี้สถิติการเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาร์เฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมาอยู่ระหว่าง 7-12%  ขณะเดียวกันยังเป็นประเทศที่รวยทรัพยากรและมีโครงสร้างรายได้ที่ดี  โดย 43% ของรายได้เมียนมาร์มาจากแก๊สและปิโตรเลียม มีทรัพยากรในแหล่งน้ำและการเกษตรสมบูรณ์ดี อีกทั้งประชากรเมียนมาร์ยังมีคุณภาพและมีศักยภาพ โดยที่มีค่าแรงต่ำประมาณ 120-150 บาทต่อวัน จึงเหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องใช้แรงงาน
 
 
  
สิ่งสำคัญอีกประการคือ เมียนมาร์มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศ ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ต่างประเทศ โดยมีความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านการเมืองและประชาธิปไตย มีการให้ความสำคัญในการปรองดองระหว่างรัฐบาล ชนกลุ่มน้อยและฝ่ายตรงข้าม เช่น กรณีของนางอองซาน ซู จี ที่เคยถูกขังไว้นานถึง 15 ปี แต่ปัจจุบันซูจี มีบทบาทในทางการเมืองเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับด้านสังคมที่เปิดกว้างขึ้น อาทิ ประชาชนเมียนมาร์มีโอกาสใช้โทรศัพท์มือถือแพร่หลายขึ้น ผลจากซิมโทรศัพท์มือถือที่ถูกลง จากราคา 1 พันบาทเหลือเพียงประมาณ 50 บาท เป็นต้น
แม้แต่ในด้านการท่องเที่ยวเมียนมาร์ก็ไม่เป็นรองใคร มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมียนมาร์เป็นจำนวนมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวจากไทยไปเมียนมาร์เองก็ไม่ได้ปรับลดลงไปแม้มีสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมือง ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเพราะเครียด ทำให้ต้องการไปไหว้พระให้สบายใจ จึงส่งผลให้สถิติการไปมาหาสู่ระหว่างไทยและเมียนมาร์ในปี 2556 มีการเติบโตถึง 121%  จากปี 2555 แต่จำนวนนักท่องเที่ยวชาติที่ 3 ที่เดินทางมาเที่ยวไทย ก่อนจะเดินทางไปเมียนมาร์ต่อได้รับผลกระทบบ้าง  ส่วนเรื่องมาตรการยกเลิกวีซ่าสำหรับผู้เดินทางชาวไทยโดยเครื่องบิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา
 
  
โอกาสทางธุรกิจหลายกลุ่ม
 
โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า ในขณะนี้มีโอกาสที่เปิดกว้างทางธุรกิจมากขึ้นในเมียนมาร์และเป็นโอกาสของภาคธุรกิจหลายกลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจตามนโยบายด้านการพัฒนาของรัฐบาลเมียนมาร์ อาทิ ธุรกิจด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ดัง ไฟฟ้า ประปาและโทรคมนาคมและการสื่อสาร เป็นต้น
 
 
กลุ่มที่สอง ได้แก่ ธุรกิจที่เป็นผลพวงจากการปฏิรูปและการเปิดประเทศของเมียนมาร์ เนื่องจากการเปิดประเทศทำให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเยือนเมียนมาร์เป็นจำนวนมากและทำให้เกิดการขาดแคลนหลายสิ่งหลายอย่างตามมา เช่น ขาดแคลนโรงแรมพักอาศัยดี ๆ รองรับ ขาดแคลนร้านอาหารดี ๆ นอกเหนือจากนั้นเป็นธุรกิจภาคบริการอื่น ๆ  
กลุ่มสุดท้ายคือ สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จะมาตอบสนองอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นของประชากรเมียนมาร์ เนื่องจากการปฏิรูปทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาร์มีการพัฒนาดีขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น กินดีอยู่ดีขึ้นและมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจอีกทางหนึ่ง
 
 
นายพิษณุกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเข้าเมียนมาร์มาก รวมถึงนักลงทุนไทยที่เข้ามาเป็นร้อยคณะและมีเพียงส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจลงทุน โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า นักลงทุนไทยยังมีโอกาสอยู่มาก ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ของเมียนมาร์ในแง่ของมูลค่าการลงทุน รองจากจีน และเวลานี้มาตรการคว่ำบาตรพม่าจากฝ่ายต่าง ๆ ได้ยกเลิกไปเกือบหมดแล้ว จึงทำให้มีนักลงทุนรายใหญ่ ๆ เข้ามามาก ทั้งนี้ได้ชี้ว่า ไทยมีข้อได้เปรียบชาติอื่น ๆ ในเรื่องของทำเลที่ตั้งและทัศนคติของชาวเมียนมาร์ที่มีต่อคนไทยและสินค้าไทยเป็นไปในทางที่ดี นักธุรกิจของไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากแต้มต่อนี้ให้เต็มที่
 
โอกาสธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต ลู่ทางแจ่มใส เมืองไทยประกันชีวิตมาทันเวลา
 
ในโอกาสเดียวกัน นายพิษณุเปิดเผยด้วยว่า ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งที่มีลู่ทางสดใสได้แก่ ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต เนื่องจากในเวลานี้ชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่ที่ให้ความสนใจด้านสุขภาพจำเป็นต้องไปใช้บริการดูแลรักษาสุขภาพในไทย จึงเป็นโอกาสของธุรกิจประกันของไทยด้วยที่จะสามารถไปขยายต่อยอดในเมียนมาร์ได้
ดังนั้น การที่บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน)พร้อมรุกเข้าสู่เมียนมาร์จึงเป็นการเข้าไปในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ทันการ ซึ่งนับเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนในเมียนมาร์  
 
อุปสรรคสำคัญที่นักลงทุนทุกชาติต้องเผชิญ
 
อย่างไรก็ตาม การรุกประเทศเปิดใหม่ ทุกก้าวย่างต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ซึ่งท่านเอกอัครราชทูตไทยมองว่า การทำธุรกิจในเมียนมาร์ยังคงมีอุปสรรคที่นักลงทุนต้องเผชิญอยู่บ้าง โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มปัญหาและข้อจำกัดดังนี้คือ
กลุ่มแรกเป็นปัญหาที่นักลงทุนชาติต่าง ๆ ต้องประสบ  อาทิ   ข้อมูลการตัดสินใจในทางธุรกิจมีอย่างจำกัด  ระเบียบกฎเกณฑ์ กฎหมายต่าง ๆของเมียนมาร์ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านธุรกิจต่าง ๆ ยังค่อนข้างสูง แต่ถือว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศเกิดใหม่ ปัญหาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา เช่น ธุรกิจที่ต้องใช้ไฟฟ้ามากอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้างจากการขาดแคลนไฟฟ้า เพราะเมียนมาร์ยังขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอยู่และธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะในขณะนี้รัฐบาลเมียนมาร์เอาจริงเอาจังมากกับธุรกิจที่จะมาทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศ
2.เป็นปัญหาที่เป็นผลจากการที่เมียนมาร์เปิดประเทศอย่างเต็มที่ ทำให้นักธุรกิจที่จะมาทำธุรกิจในเมียนมาร์ต้องเผชิญกับการแข่งขันค่อนข้างสูงด้วย ดังนั้นนักธุรกิจไทยที่จะเข้ามาจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งในด้านข้อมูล ทุน การประสานงาน แผนธุรกิจที่รัดกุม
อย่างไรก็ดี ท่านเอกอัครราชทูตไทยกล่าวว่า อุปสรรคเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศเปิดใหม่ จึงเตือนนักลงทุนไทยว่า “อย่าช้า”  
“ทางสถานทูตไทยเปิดเผยไว้ในเวบไซต์เตือนว่า อย่าช้า เพราะมีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนักลงทุนประเทศอื่นที่เคยรีรอ ได้แห่เข้าเมียนมาร์กันมาก  ในขณะที่นักลงทุนไทยมาดูลู่ทางและเงียบหายไป
บางคนอาจคิดว่า “เสี่ยง”  แต่ผม ไม่อยากให้รอ
นักธุรกิจไทย ไม่อยากพลาดโอกาสสำคัญ คงต้องรีบกันหน่อยแล้วล่ะ
 
 
 

LastUpdate 17/04/2557 14:53:05 โดย : Admin
18-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 18, 2024, 1:17 pm