เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับสัญญาณฟื้นตัวส่งออกไทย


 
 
 
 
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองตัวเลขส่งออกเดือนธันวาคม 2556 ที่กระทรวงพาณิชย์จะแถลงในเร็ววันนี้ มีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย บ่งชี้ภาพการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทย 



 


หลังจากที่ภาพเศรษฐกิจในประเทศของไทยส่งสัญญาณอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง กอปรกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังรุมเร้า ทำให้หลายภาคส่วนหันกลับมามองการส่งออกที่จะกลายมาเป็นฮีโร่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และผลของค่าเงินบาทที่ยังมีทิศทางอ่อนตัวต่อเนื่อง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่า ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้า สำหรับเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์น่าจะแถลงได้ภายในสัปดาห์นี้ จะชี้ให้เห็นถึงทิศทางการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยพิจารณาร่วมกับเครื่องชี้ภาคส่งออกหลายตัว ได้แก่ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือ



 

ล่าสุด ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้เปิดเผยภาวะอุตสาหกรรมผ่านเครื่องชี้ดัชนีผลผลิตของเดือนธันวาคม พบว่ายังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.1 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หากพิจารณาลงไปในรายสาขาแยกตามการส่งออกจะเห็นได้ว่า กิจกรรมการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมที่เน้นขายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศนั้น(ส่งออกมากกว่า 60%) ดูเหมือน ว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงปลายไตรมาสสามถึงต้นไตรมาสสี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมายังปีนี้

อีกทั้งหน่วยงานกลางระดับโลก อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกได้ออกประมาณการเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีมุมมองดีขึ้นต่อกิจกรรมเศรษฐกิจและแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศ อันมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวขึ้นชัดเจนเป็นลำดับในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งล้วนแต่เป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับต้นของไทย ดังนั้นเท่ากับเป็นการตอกย้ำภาพให้เห็นว่าการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยน่าจะมีทิศทางที่สดใสขึ้น และกลับมาเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศซึ่งทำให้โครงการลงทุนเมกะโปรเจคของภาครัฐต้องหยุดชะงัก
 
 
 

นอกจากนี้ ตัวเลขปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือจากท่าเรือหลัก ทั้งท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังในเดือนธันวาคม ในส่วนของปริมาณการขนส่งสินค้าขาออก มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 12.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.9 เป็นอีกเครื่องชี้ที่สะท้อนถึงทิศทางการส่งออกที่ฟื้นตัว 

ทั้งนี้ จากตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก รวมถึงปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี คาดว่าการส่งออกในเดือนธันวาคมจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี หลังจากที่มีการหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้การส่งออกปี 2556 น่าจะหดตัวราวร้อยละ 0.3

กล่าวโดยสรุป จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสขึ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอันเป็นคู่ค้าหลักของไทย รวมทั้งเครื่องชี้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก ความหวังที่ภาคการส่งออกจะกลับมาเป็นพระเอกสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ดูเหมือนว่าจะมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งคาดหวังว่าน่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศ

 
 
 
 

LastUpdate 29/01/2557 09:09:26 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:30 am