สศค.เปิดรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธ.ค.และไตรมาสที่ 4 ของปี2556 ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค. บ่งชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณหดตัว ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิต ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการเมืองกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ท่องเที่ยวลดลง แต่ส่งออกอาจดีขึ้นตามคู่ค้า
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี2556 ว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนธันวาคม 2556 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณหดตัว ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิต ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าคาดว่าเริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก
ทั้งนี้ในรายละเอียดพบว่า การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวโดยเฉพาะจากการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนธันวาคม 2556 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 อยู่ที่ร้อยละ -28.3 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -39.7 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวทั้งจากในส่วนภูมิภาคและในเขตกทม. โดยภาพรวมในเดือนธันวาคม 2556 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -17.2 และ -14.9 ต่อปีตามลำดับ
ในขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ แม้ว่าขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ต่อปี แต่ส่วนหนึ่งมาจากฐานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้ในภาพรวมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ยังคงหดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวร้อยละ -14.5 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -24.1 ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอตัวจากช่วงก่อนหน้า วัดภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2556 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ยังคงขยายตัวอยู่ร้อยละ 9.1ต่อปี แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.0 ต่อปี สะท้อนถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มทรงตัว
อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่า ภาคการส่งออกสินค้าของไทยจะมีทิศทางดีขึ้นในเดือนธันวาคม 2556 เทียบกับช่วงก่อนหน้าจากการประเมินเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีสัญญาณของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย
ในส่วนของภาคการผลิตมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2556 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในระดับสูง ได้แก่ อาหาร (ร้อยละ -14.3 ต่อปี) ยานยนต์ (ร้อยละ -21.3 ต่อปี) และเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ (ร้อยละ -15.3 ต่อปี)เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในเดือนธันวาคม 2556 ได้แก่ เครื่องหนัง(ร้อยละ 7.6ต่อปี) วิทยุโทรทัศน์ (ร้อยละ 2.8ต่อปี) และการปั่นการทอ (ร้อยละ 2.4ต่อปี)ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ –3.5 ต่อปีสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 25 เดือน อยู่ที่ระดับ 88.3 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่จํานวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนธันวาคม 2556 ขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 6.7 ต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -3.9 ต่อเดือน (หลังปรับฤดูกาล) ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี
อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.7 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมสำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 อยู่ในระดับสูง ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ที่มีสัญญาณชะลอตัว ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะขยายตัวได้ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่ง สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ตามที่ได้ประมาณการไว้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556
ข่าวเด่น