TMB Analytics คาดส่งออกไทยปี 2557 กลับมาเติบโตได้ร้อยละ 4.5 จากแนวโน้มเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน และการค้าชายแดนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่งออกจะเริ่มกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง
หากย้อนกลับไปเมื่อต้นปีก่อน หลายฝ่ายคาดว่า การส่งออกในปี 2556 จะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 5-7 แต่การส่งออกกลับฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า จากผลพวงของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างเปราะบาง ทำให้มีการทยอยปรับลดคาดการณ์ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 0 หรือแทบไม่มีการเติบโตเลย โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคมปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับที่ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้คาดการณ์ไว้ว่า จะขยายตัวร้อยละ 2.2 ส่งผลให้การส่งออกปี 2556 หดตัวร้อยละ 0.3
เป็นที่น่าผิดหวังสำหรับเศรษฐกิจไทย แทนที่ภาคการส่งออกจะเป็นตัวช่วยค้ำยันเศรษฐกิจในช่วงที่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว แต่ทุกแรงขับเคลื่อนกลับแผ่วลงไปตามๆกัน อย่างไรก็ตาม ยังพอมีแสงสว่างให้พอเห็นหนทาง การส่งออกที่หักทองคำขยายตัวได้เล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 1.3 ชะลอจากปีก่อนที่ร้อยละ 2.7 แต่หากเทียบรายไตรมาส ในไตรมาส 4 การส่งออกที่หักทองคำและปรับผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่ร้อยละ 0.5 ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การส่งออกไทยมีสัญญาณปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และจีนที่ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
การส่งออกของไทยปี 2557 นี้ จะเติบโตเพียงใด ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของเศรษฐกิจคู่ค้าว่า จะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน โดยเราเริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดาวเด่นจะมาจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ดังจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในประเทศคู่ค้าหลักของไทย ล้วนกลับมายืนเหนือระดับที่สูงกว่า 50 แล้ว อันบ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัว
โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ การปรับลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรในมาตรการ QE ของธนาคารกลาง เป็นสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นลดลงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เหตุจากการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในเดือนธันวาคม สำหรับเศรษฐกิจยุโรป อัตราว่างงานแม้อยู่ในระดับสูงแต่เริ่มทรงตัวบ้างแล้ว ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการผลิตและภาคบริการก็กลับมาสะท้อนภาวะการฟื้นตัว ทำให้ปีนี้คาดว่า จีดีพีของเศรษฐกิจคู่ค้ากลุ่มนี้จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง
ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายชินโซ อะเบะ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและหลุดออกจากภาวะเงินฝืด สังเกตจากอัตราเงินเฟ้อที่หักอาหารสดกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.2 ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่อยู่ในแดนลบมาตลอดก่อนที่จะมีการออกนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงเศรษฐกิจจีนซึ่งตอนนี้ขึ้นแท่นเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยแล้ว มูลค่าการส่งออกของจีนในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2556 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2 ครั้งติดต่อกัน ที่กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะส่งผลบวกต่อเนื่องมายังการส่งออกของประเทศไทยไปยังจีนในปีนี้ด้วย
จากปัจจัยบวกของทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้น ประกอบกับการค้าชายแดนยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าทิศทางการส่งออกจะสดใสกว่าปีก่อน โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 4.5
นอกเหนือจากทิศทางของเศรษฐกิจคู่ค้า ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตโลก โรคตายด่วนในกุ้งที่ยังไม่หายขาด ผลบวกที่ญี่ปุ่นอนุญาตนำเข้าไก่สดจากไทยได้ในรอบ 10 ปี สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนก และผลกระทบจากการที่ยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร(GSP) ที่ให้กับไทย
นอกจากนี้การส่งผ่านของการฟื้นตัว ซึ่งอาจเร็วหรืออาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามว่า การส่งออกไทยจะเติบโตติดลมบนตามเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่
ข่าวเด่น