บรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์เนื้อหอม เพราะหลังกสทช.ประกาศ ใครบริหารช่องไหน หมายเลขใด เหล่าผู้ชนะประมูลทีวีดิจิตอลรุมจีบเพื่อเสริมด้านคอนเทนต์ ให้ทันออกอากาศเดือนเม.ย.
เนื้อหอมไปตามๆกันสำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ชื่อดังแต่ละค่ายไม่ว่าจะเป็นบริษัท เจเอสแอล โกลบอลมีเดีย หรือบริษัท กันตนา กรุ๊ป เพราะภายหลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า ใครบริหารช่องไหน และได้หมายเลขช่องที่เท่าไหร่กัน เหล่าบรรดาผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลต่างเร่งหาหน่วยเสริมด้านคอนเทนต์ เพื่อให้ทันการออกอากาศในเดือนเม.ย.นี้ หลังผู้ผลิตคอนเทนต์ถูกเหล่าบรรดาผู้ชนะทีวีดิจิตอลรุมจีบ ส่งผลให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องเร่งจัดทัพคอนเทนต์ครั้งใหญ่ เพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากทีวีดิจิตอลออกอากาศอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ช่องฟรีทีวีของไทยจะมีเพิ่มเป็น 48 ช่องทันที ในจำนวนดังกล่าว 24 ช่องเป็นช่องธุรกิจ
บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ที่ออกตัวแรงตั้งแต่ก่อนการประมูลทีวีดิจิตอลช่องธุรกิจว่า จะไม่เข้าร่วมประมูล แต่จะขอเข้าร่วมกับทีวีดิจิตอลช่องต่างๆ ด้วยการเข้าเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์
นายวัชระ แวววุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเจ เอส แอล กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายบริษัทที่ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลเข้ามาติดต่อขอให้บริษัทเข้าไปเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ให้กับช่องรายการต่างๆ โดยขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาจำนวน 9 ช่อง ประกอบด้วย วอยซ์ทีวี ,ไทยรัฐ , อมรินทร์, พีพีทีวี ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ,แกรมมี่ , เนชั่น ,ทรู ,ช่อง 9, และช่อง 7
แม้ว่าขณะนี้จะเจรจาเพียง 9 ช่อง แต่ก็ยังมีอีกหลายช่องที่อยู่ระหว่างการทาบทาม คาดว่าหลังทุกอย่างลงตัวก่อนวันออกอากาศ น่าจะเจรจาจบ พร้อมเข้าร่วมผลิตคอนเทนต์ให้กับทีวีดิจิตอลไม่ต่ำกว่า 10 ช่อง ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัท เจ เอส แอล มีช่วงเวลาในการผลิตรายการทีวีและละครป้อนให้กับช่องทีวีดิจิตอลต่อสัปดาห์ไม่ต่ำกว่า 25-30 ชั่วโมง ขณะที่ช่องฟรีทีวีปกติ(อนาล็อค) เช่น ช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 9 คาดว่าปีนี้จะสามารถเพิ่มช่วงเวลาได้อีกประมาณ 1 ชั่วโมง จากปัจจุบันมีช่วงเวลาผลิตรายการทีวีและละครอยู่ที่ประมาณ 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
จากแนวทางดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทเจ เอส แอล ต้องปรับกระบวนทัพครั้งใหญ่ ด้วยการแตกบริษัทย่อยเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งจำนวน 7 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท มายด์ แมทเทอร์ส ทำหน้าที่จัดงานอีเว้นท์และวางกลยุทธ์ตลาด 2.บริษัท เฮ้าส์ออฟการ์ตูน ดูแลลิขสิทธิ์การ์ตูนในประเทศไทย 3. บริษัท ครีเอทีฟ โมจิโต้ บริการสตูดิโอและการออกอากาศ 4.บริษัท เอ ไอ ไทยแลนด์ ดูแลลิขสิทธิ์การ์ตูนไลน์/โดราเอมอน 5. บริษัท ทีวีบูรพา ผลิตรายการโทรทัศน์ 6. บริษัท เฮอร์คิวลิสครีเอชั่น ผลิตรายการโทรทัศน์และสารคดี 7.บริษัท คอนเทนต์แลป นำเข้ารูปแบบรายการจากต่างประเทศ
นายวัชระ กล่าวว่า หลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจเข้าสู่ทีวีดิจิตอลสิ้นปีนี้ น่าจะมีรายได้จากการผลิตรายการและละครให้กับทีวีดิจิตอลแต่ละช่องไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด เนื่องจากบริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจ ด้วยการเข้าไปบริหารเวลาร่วมกันกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล(ไทม์ แชร์ริ่ง)ในปี 2558
นอกจากคอนเทนต์รายการทีวี และละครที่บริษัท เจ เอส แอล ปักธงสร้างให้เป็นรายได้หลักแล้ว การผลิตและหาคอนเทนต์ใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้ที่บริษัท เจ เอส แอล จะเน้นมากขึ้นนับจากปีนี้ เช่นเดียวกับการทำแบรนด์เด็ด คอนเทนต์ หรือการดูแลลูกค้าผ่านแคมเปญทางการตลาดและการจัดกิจกรรมโชว์บิส ซึ่งจากแผนการดำเนินงานดังกล่าว สิ้นปีนี้ บริษัท เจ เอส แอล คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีรายได้ 900 ล้านบาท
ในด้านของบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์ชื่อดังของไทยก็เนื้อหอมไม่แพ้บริษัท เจ เอส แอล เนื่องจากขณะนี้มีผู้ชนะทีวีดิจิตอลหลายรายเข้ามารุมจีบ เพื่อเข้าไปผลิตคอนเทนต์ให้ และในช่วงระหว่างที่รอการเจรจาแล้วเสร็จ บริษัท กันตนา ได้ดำเนินการปรับทัพควบคู่ไปด้วย
นายจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหารกันตนา กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทมีความตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วที่จะไม่เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอล เพราะต้องการวางตัวเองเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ เพื่อเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ของการผลิตรายการทีวี โดยขณะนี้บริษัทได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วหลายด้านไม่ว่าจะเป็นบุคลากร เทคโนโลยี หรือสตูดิโอ รวมไปถึงการเจรจาซื้อคอนเทนต์ดังจากต่างประเทศ
จากแนวทางธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทกันตนา กรุ๊ป ต้องเตรียมงบประมาณการลงทุนด้านคอนเทนต์และเทคโนโลยีต่างๆ ไว้ที่ประมาณ 500-600 ล้านบาท และนับจากปี 2558 เป็นต้นไปจะเพิ่มงบประมาณอีกปีละ 30% ต่อเนื่องไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้คอนเทนต์และเทคโนโลยีพัฒนาไปตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเบื้องต้นของการลงทุนในปี 2557 นี้ใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 100-200 ล้านบาท ในการซื้อคอนเทนต์ดังจากต่างประเทศ ส่งผลให้ขณะนี้มีคอนเทนต์ดังอยู่ในมือแล้ว 40 รายการ ในจำนวนนี้อาทิ เดอะเฟซ ,ด้อนท์ลูสเดอะมันนี่ ,เดอะเทสท์ ,สไลด์โชว์ และไทยแลนด์ไอดอล
ในส่วนของช่องทางการออกอากาศ ขณะนี้บริษัท กันตนา ได้เริ่มเจรจากับผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลบ้างแล้วประมาณ 6 รายจากทั้งหมด 12 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่เคยทำงานร่วมกัน เช่น ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 9 ส่วนผู้เล่นรายใหม่อย่างช่องไทยรัฐทีวี ขณะนี้ได้ทำการเจรจาแล้วเช่นกัน เบื้องต้นมีความเป็นไปได้สูงในการเข้าร่วมงานกับช่องไทยรัฐทีวี
นายจาฤก กล่าวว่า ในจำนวนช่องธุรกิจ 24 ช่อง แบ่งเป็น หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง(ทั่วไปHD) 7 ใบอนุญาต หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ(ทั่วไปSD) 7 ใบอนุญาต หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 7 ใบอนุญาต และหมวดหมู่เด็ก เยาวชนและครอบครัว 3 ใบอนุญาต บริษัทให้ความสนใจทุกช่อง เนื่องจากบริษัทมีคอนเทนต์ที่หลากหลายสามารถป้อนให้กับทีวีดิจิตอลทุกช่องได้
แม้ว่าบริษัท กันตนาจะออกมาประกาศแผนซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศมากขึ้น แต่ในส่วนของการรับผลิตรายการตามความต้องการของสถานียังคงดำเนินงานตามปกติ เนื่องจากธุรกิจในส่วนนี้คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด หลังจากมีธุรกิจในด้านของทีวีดิจิตอลเข้ามาช่วยเสริม ขณะเดียวกันก็จะมีการขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ส่งผลให้บริษัท กันตนา คาดการณ์ว่า สิ้นปีนี้น่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท ในอีก 4-5 ปีนับจากนี้
จากจำนวนช่องฟรีทีวีที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการของคอนเทนต์มีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของเหล่าบรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ฝีมือดี เพราะจำนวน 24 ช่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากนับเป็นโอกาสสำหรับการขายคอนเทนต์ ชิงเค้กก้อนโต 576 ชั่วโมงต่อวันของฟรีทีวีช่องทีวีดิจิตอล ใครจะชิงเค้กได้มากหรือน้อย งานนี้คงต้องวัดกันที่คุณภาพ
ข่าวเด่น